การวิเคราะห์ปัจจัยและความยืดหยุ่นของปัจจัยในการเลือกรูปแบบ การขนส่งของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ในจังหวัดสมุทรปราการ

Main Article Content

อำพล นววงศ์เสถียร
สุรัตน์ จันทองปาน
ฎาฎะณี วุฒิภดาดร
สิทธิชัย ฝรั่งทอง
ธิปัตย์ โสตถิวรรณ์

Abstract

           การศึกษาเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) วิเคราะห์ปัจจัยและความยืดหยุ่นของปัจจัยในการเลือกรูปแบบการขนส่งของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ในจังหวัดสมุทรปราการ 2) พัฒนาแบบจำลองโลจิตหลายทางเลือกเพื่ออธิบายพฤติกรรมการเลือกในการเลือกรูปแบบการขนส่ง (รถบรรทุก รถบรรทุกร่วมกับทางเรือ และรถบรรทุกร่วมกับทางอากาศ) ของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ในจังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างจังหวัดสมุทรปราการและเมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม 3) นำผลการศึกษาไปใช้ตัดสินใจเลือกรูปแบบการขนส่งเชื่อมโยงหลายรูปแบบเพื่อสร้างประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้กับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทย และนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทยในตลาดโลก

                หน่วยวิเคราะห์คือ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ในจังหวัดสมุทรปราการ ตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามเชิงสำรวจเป็นอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ในจังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 248 บริษัท โดยใช้แบบจำลองโลจิตแบบหลายทางเลือก (Multinomial Logit) ขั้นตอนการศึกษาเริ่มต้นจากการรวบรวมข้อมูลทั้งจากข้อมูลในสถานการณ์จริง(Reveal Preference-RP) และข้อมูลจากสถานการณ์สมมติ (State Preference-SP) การพัฒนาแบบจำลองการตัดสินใจเลือกใช้รูปแบบการขนส่งของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ในสถานการณ์จริง (Reveal Preference-RP) แบบโลจิตหลายทางเลือก พบว่า ความตรงต่อเวลาของการขนส่ง ต้นทุนการขนส่ง ต้นทุนการเก็บรักษาสินค้า ระยะเวลาที่ใช้ในการขนส่ง มีค่านัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 การพัฒนาแบบจำลองการตัดสินใจเลือกใช้รูปแบบการขนส่งของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ในสถานการณ์สมมติ (State Preference-SP) แบบโลจิตหลายทางเลือก พบว่า  ตัวแปรต้นทุนการขนส่ง  ต้นทุนการเก็บรักษาสินค้า  ความรวดเร็วของขนส่ง  ความตรงต่อเวลาของการขนส่ง ของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์  มีค่านัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ยกเว้นแบบจำลอง Vtruck-air ที่ความรวดเร็วและความตรงต่อเวลาในการขนส่งไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 แบบจำลองทั้งหมดสามารถอธิบายได้ว่า การเพิ่มขึ้นของความรวดเร็วของการขนส่ง และความตรงต่อเวลาในการขนส่ง มีผลทำให้ผู้จัดการโลจิสติกส์ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์มีโอกาสจะเลือกใช้รูปแบบการขนส่งทางรถบรรทุก  และรูปแบบการขนส่งทางรถบรรทุกร่วมกับเรือขนส่ง โดยความตรงต่อเวลาในการขนส่งมีอิทธิพลสูงสุด สำหรับการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการขนส่ง ต้นทุนการเก็บรักษาสินค้า  มีผลทำให้ผู้จัดการโลจิสติกส์ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ มีโอกาสจะไม่เลือกใช้รูปแบบการขนส่งเดิม แต่จะไปเลือกใช้รูปแบบการขนส่งอื่น โดยต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าจะมีอิทธิพลมากที่สุด

 

Article Details

Section
Articles