ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย
Main Article Content
Abstract
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาระดับคุณภาพชีวิตและปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย การศึกษาใช้วิธีการวิจัยเชิงสำรวจด้วยตัวอย่าง กลุ่มเป้าหมายในการศึกษาได้แก่ประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่พักอาศัยอยู่ในเขตเมืองและเขตชนบทของจังหวัดต่าง ๆ รวม 15 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นครปฐม พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี ชลบุรี พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เชียงใหม่ นครราชสีมา หนองคาย อุบลราชธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช และสตูล การสุ่มตัวอย่างใช้วิธีการสุ่มแบบหลายขั้นตอน รวมจำนวนตัวอย่างในการศึกษาทั้งสิ้น 4,500 คน การเก็บข้อมูลใช้วิธีการสัมภาษณ์ด้วยแบบสัมภาษณ์ และนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อหาระดับคุณภาพชีวิตด้วยค่าสถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆกับคุณภาพชีวิต ด้วยสถิติการวิเคราะห์ถดถอยพหุแบบปกติ (Multiple Regression) ที่ระดับนัยสำคัญ .05 ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับค่อนข้างดี ส่วนการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตด้วยสถิติการวิเคราะห์ถดถอยพหุแบบปกติพบว่า ปัจจัยที่มีผลทางบวกต่อคุณภาพชีวิตของกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ การศึกษาระดับปริญญาตรี อาชีพเกษตรกรรม สถานภาพสมรสและอยู่กับคู่สมรส รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่อเดือน การมีเงินออม ความรู้สึกพึงพอใจกับบริการด้านการรักษาพยาบาลของรัฐ ความรู้สึกพึงพอใจกับบริการสาธารณูปโภคของรัฐ ความรู้สึกพึงพอใจกับการจัดการศึกษาของรัฐ ความคิดเห็นเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรมของคนไทย และความรู้สึกพึงพอใจในคุณภาพชีวิตแต่ละด้าน ส่วนปัจจัยที่มีผลทางลบ ได้แก่ อาชีพลูกจ้างเอกชน รายจ่ายครัวเรือนเฉลี่ยต่อเดือน และ การมีหนี้สิน ผู้วิจัยเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเพิ่มบทบาทในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในด้านต่าง ๆ ได้แก่ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ควรมีมาตรการทางด้านราคาสินค้าเพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ควรเพิ่มการรณรงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพให้แก่ประชาชน และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรเพิ่มมาตรการในการดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้แก่ประชาชน