การวิเคราะห์อิทธิพลของหน่ายผลิตในระบบเศรษฐกิจ ต่อการใช้ที่ดินในเขตเมืองของประเทศไทย
Main Article Content
Abstract
บทคัดย่อ
กระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยมีผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของประชากรในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product) ขยายตัวและรายได้ต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้น ทำให้ประชากรมีการบริโภคสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นตามวิธีชีวิตแบบบริโภคนิยม การเติบโตทางเศรษฐกิจส่งผลให้ความต้องการที่ดินหรือพื้นที่เพื่อการดำเนินกิจการทางธุรกิจเพิ่มขึ้น การขยายตัวของเมือง (Urbanization) ทำให้การก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การใช้ประโยชน์จากที่ดินเปลี่ยนแปลงไปจากประเทศเกษตรกรรมที่ประชากรส่วนใหญ่เคยมีรายได้จากการเพาะปลูกพืชผลการเกษตร การศึกษาครั้งนี้วิเคราะห์อิทธิพลของสาขาหน่วยการผลิตและบริการต่าง ๆ
ในระบบเศรษฐกิจที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน โดยการสร้างแบบจำลองดุลยภาพทั่วไปและใช้ข้อมูลตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตของประเทศไทย เพื่อแสดงการปรับตัวของราคาที่มีการเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดเมื่อแต่ละสาขาต่างมีอุปสงค์ที่ดินเพื่อเป็นปัจจัยการผลิตขั้นปฐม การศึกษานี้ทำการคำนวณโดยกำหนดให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราร้อยละ 4.2 ต่อปีและคาดการณ์ในอนาคตพิสัย 30 ปี ผลการคำนวณแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ดินของสาขาต่างๆ แสดงถึงความสามารถในการแข่งขันเพื่อถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งสามารถใช้เป็นข้อมูลเพื่อมุ่งแสวงหาการกำหนดนโยบายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
คำสำคัญ: การใช้ที่ดิน การขยายตัวของเมือง การเติบโตทางเศรษฐกิจ แบบจำลองดุลยภาพทั่วไป