ไร่หมุนเวียน สิทธิทางวัฒนธรรม เพื่อความเป็นธรรมทางนิเวศและสังคม
Main Article Content
Abstract
ไร่หมุนเวียน คือระบบการผลิตพื้นบ้านของคนกะเหรี่ยงและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อยู่บนที่สูงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และที่อื่นๆ โดยประยุกต์จากกระบวนการของนิเวศป่าเขตร้อนชื้นด้วยการทำการผลิตในระยะสั้นและปล่อยพักฟื้นระยะยาวจนผืนดินคืนความสมบูรณ์แล้วจึงวนกลับมาทำที่เดิมไร่หมุนเวียนไม่เพียงเป็นระบบการผลิตอาหารที่มีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นอัตลักษณ์วัฒนธรรมของคนกะเหรี่ยงที่แฝงไว้ด้วยมโนทัศน์นิเวศวัฒนธรรม องค์ความรู้ชาติพันธุ์นิเวศ ระบบการจัดการทรัพยากรส่วนรวม และระบบการผลิตเชิงศีลธรรมเพื่อการยังชีพอย่างมั่นคง ไร่หมุนเวียนเริ่มประสบปัญหาตั้งแต่การเกิดรัฐ-ชาติไทยสมัยใหม่ที่นำเอาวิทยาศาสตร์เชิงพาณิชย์ว่าด้วยการจัดการป่าและการเกษตรเข้ามาพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้สูงสุดตามแนวทางระบบทุนนิยม ไร่หมุนเวียนถูกมองว่าเป็นระบบการผลิตที่ล้าหลังไม่มีประสิทธิภาพ กระทบต่อป่าไม้ที่เป็นแหล่งทรัพยากรอันมีค่าของรัฐ ขัดกับหลักกรรมสิทธิ์ที่ดินปัจเจก เป็นวิถีของกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูงตามแนวชายแดนที่ถูกสงสัยว่าไม่ใช่คนไทย และอาจเป็นภัยต่อความมั่นคง เมื่อรัฐประกาศเขตป่าอนุรักษ์ครอบทับพื้นที่ทำกินของคนกะเหรี่ยง ไร่หมุนเวียนจึงเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ถูกห้ามหมุนเวียนหรือถูกกดดันให้ทำไร่เฉพาะผืนดินที่พักฟื้นระยะสั้นเกินไป ทำให้ความสมบูรณ์และความหลากหลายพืชพรรณอาหารในไร่ลดลง ชุมชนประสบความไม่มั่นคงอาหารและการดำรงชีพ ต้องหันไปทำการเกษตรพาณิชย์ที่ไม่ยั่งยืนเครือข่ายกะเหรี่ยงได้ผลักดันผลักดันไร่หมุนเวียนในฐานะเป็นสิทธิทางวัฒนธรรมประเพณี แต่ก็ถูกรัฐเพิกเฉย แม้จะสามารถผลักดันให้มีมติคณะรัฐมนตรีรับรองการทำไร่หมุนเวียน แต่หน่วยงานป่าไม้ก็ยังละเมิดสิทธิการทำไร่หมุนเวียนของคนกะเหรี่ยงตลอดมา ในภาวะที่โลกและประเทศชาติกำลังประสบปัญหาการพัฒนาที่ทำลายระบบนิเวศ ขาดมโนทัศน์ องค์ความรู้ใหม่ที่จะทำการผลิตและดำรงชีพที่เกื้อกูลต่อระบบนิเวศ เครือข่ายกะเหรี่ยงจึงเสนอให้ไร่หมุนเวียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติและของโลก เพื่อเป็นต้นแบบของการสร้างความเป็นธรรมทางนิเวศให้แก่โลกใบนี้