มุมมองการพัฒนาองค์การ: มัสยิดและการจัดการชุมชนทุ่งตำเสาตามวิถีอิสลาม
Main Article Content
Abstract
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาองค์การ กรณีมัสยิดของชุมชนทุ่งตำเสา ซึ่งใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนการจัดการชุมชนมุสลิม ตำบลทุ่งตำเสา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้การสังเกต การสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่ม และการจัดเวทีชุมชน เป็นวิธีการในการรวบรวมข้อมูลภาคสนาม โดยมีผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ ผู้นำศาสนา จำนวน 3 คน ผู้นำชุมชน จำนวน 3 คน สัปปุรุษ จำนวน 30 คน เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 5 คน และนักวิชาการ จำนวน 5 คน ร่วมกับการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เชิงเนื้อหา ผลการศึกษา พบว่า มัสยิดของชุมชนทุ่งตำเสาเป็นพื้นที่ปฏิบัติการจัดการชุมชนตามวิถีอิสลาม ทั้งด้านการสืบทอดศาสนา การจัดการศึกษา การจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการปกครอง การสื่อสารชุมชน และการจัดสวัสดิการชุมชน อีกทั้งยังถือว่ามัสยิดเป็นองค์การที่ขับเคลื่อนกิจกรรมการพัฒนาชุมชนที่มีความหลากหลายและซับซ้อน รวมทั้งยังต้องปะทะสังสรรค์กับองค์การในรูปแบบอื่น ๆ ทั้งภายในและภายนอกชุมชนบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมที่เป็นที่ยอมรับได้ของแต่ละฝ่าย ดังนั้น มัสยิดจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาองค์การ ซึ่งเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เป็นขั้นตอนอย่างมีระบบและมีความต่อเนื่อง เพื่อให้เท่าทันกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อันจักช่วยทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและคนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี