Vol. 24 No. 1-2 (2012): Deterritorializing Thai-Burma Borderlands
บทความส่วนใหญ่ที่ตีพิมพ์ในวารสารสังคมศาสตร์ฉบับนี้เป็นผลงานวิจัยที่ทำในบริเวณพรมแดนไทย-พม่าในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา งานวิจัยส่วนใหญ่ ใช้คำเรียกพื้นที่ว่าพื้นที่พรมแดน (Frontier) หรืออาณาบริเวณชายแดน (Borderlands) ซึ่งไม่ได้หมายถึงพื้นที่ตรงบริเวณเส้นเขตแตนเท่านั้น แต่ครอบคลุมบริเวณที่ห่างออกไปจากเส้นเขตแตนมากน้อยตามความสัมพันธ์ของผู้คน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม อันเป็นเสมือนพื้นที่เดียวกันตามความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีมายาวนานก่อนการขีดเส้นแบ่งเขตแดนของรัฐชาติ อย่างไรก็ดี พื้นที่ของงานวิจัยในบทความส่วนใหญ่ อยู่บริเวณพรมแดนสองฝั่งแม่น้ำเมย ซึ่งในเขตประเทศไทยอยู่ในเขตอำเภอ ท่าสองยาง แม่ระมาด แม่สอด และพบพระ ของจังหวัดตาก ส่วนในเขต ประเทศพม่าอยู่ในเขตรัฐกะเหรี่ยง งานส่วนใหญ่ศึกษาที่อำเภอแม่สอดและบริเวณอำเภอข้างเคียง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าบริเวณชายแดนมาตั้งแต่อดีต ก่อให้เกิดการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของผู้คนที่หลากหลายชาติพันธุ์และศาสนา ในปัจจุบันความสำคัญในลักษณะของการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจบริเวณชายแดนยิ่งเพิ่มมากขึ้น จากการเป็นด่านชายแดนระหว่างประเทศที่เป็นทางการที่มีไม่กี่แห่งในประเทศไทย ที่นี่ มีมูลค่าการค้าขายสินค้าข้ามแดนสูงปีละหลายหมื่นล้านบาท อีกทั้งถูกประกาศให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษตั้งแต่ ปี 2547 ที่เน้นการส่งเสริมการลงทุน ทำให้จำนวนโรงงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีแรงงานย้ายถิ่นที่ข้ามมาจากประเทศพม่าจำนวนกว่าสองแสนคนทั้งที่ทำงานโรงงานและในภาคเกษตรกรรม ภาคบริการและรับจ้างทั่วไป นอกจากนี้ หลายบทความยังเป็นผลจากการทำวิจัยในพื้นที่พักพิงผู้หนีภัย จากการสู้รบแห่งหนึ่งในหลายแห่งที่เรียงรายอยู่ตามแนวชายแดนเขตไทย