Vol. 26 No. 1 (2014): ศาสนากับการเมืองอัตลักษณ์
บทความในวารสารฉบับนี้ทั้งหมดเป็นผลจากงานวิจัยทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องขบวนการเคลื่อนไหวทางศาสนาในบริบทโลกาภิวัฒน์ ส่วนหนึ่งเป็นการศึกษาศาสนาในกลุ่มชาติพันธุ์เขตลุ่มน้ำโขงตอนบน ได้แก่งานวิจัยของ Haiying Lee เกี่ยวกับกลุ่มอาข่า งานของประสิทธิ์ ปรีชา เกี่ยวกับกลุ่มม้ง งานเรื่องกลุ่มไทใหญ่ของ Khamindra Phorn และงานของ สมัคร์ กอเซ็ม เกี่ยวกับกลุ่ม “ชาวเขา” นอกจากนี้ยังมีอีก 2 บทความ ได้แก่ บทความ ของ Sawako Fujiwara ซึ่งศึกษาวาทกรรมด้านเทววิทยาของศาสนาจารย์หญิงคนไทยที่มีบทบาทในการเผยแพร่ศาสนาระดับเอเชีย และบทความของศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ ที่อธิบายข้อถกเถียงในเรื่อง แนวทางการศึกษามานุษยวิทยาแบบอิสลาม บทความทั้ง 6 นี้ เกี่ยวข้องกับการปรับตัวของศาสนาหลักของโลกทั้งศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลามในบริบทโลกาภิวัฒน์ ในขณะเดียวกัน บทความของ Haiying Lee ได้อธิบายถึงการประดิษฐ์ประเพณีใหม่ของความเชื่อดั้งเดิม (Neo-Traditionalism) เมื่อมีการปะทะประสานกับศาสนาที่ใหญ่กว่า นอกเหนือจากบทความทั้ง 6 แล้ว ในท้ายวารสารยังมีบทแนะนำหนังสือของพิสิษฐ์ นาสี ที่ได้แนะนำหนังสือ เรื่อง Mediums, Monks, & Amulets: Thai Popular Buddhism Today ของพัฒนา กิตติอาษา ซึ่งเขาเขียนไว้ก่อนจะอำลาจากโลก
คำถามหลักร่วมกันในบทความเหล่านี้ก็คือ สภาพแวดล้อมของโลกาภิวัฒน์ ส่งผลกระทบต่อศาสนาอย่างไร ศาสนาปรับตัวอย่างไรในโลกาภิวัฒน์ ศาสนา เกี่ยวข้องกับการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ในโลกาภิวัฒน์อย่างไร