Vol. 32 No. 2 (2020): สู่โลก POSTHUMAN
โลกหลังมนุษย์ (The Posthuman World) คือสภาวะแห่งจุดตัดของการเชื่อมประสานระหว่าง กระแสความคิดที่มุ่งวิพากษ์วิจารณ์การมองมนุษย์เชิงมนุษย์นิยมตามอุดมคติแบบเก่า และ กระแสความเคลื่อนไหวซึ่งมุ่งวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดที่แบ่งแยกมนุษย์ออกจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และยกให้มนุษย์อยู่เหนือสิ่งอื่นใด วิธีคิดแบบหลังมนุษย์คือเครื่องมือที่จะสำรวจตรวจตราและนำพาเราสืบสวนตรวจสอบสรรพสิ่งต่างๆ ในสภาวการณ์ที่โลกและสิ่งมีชีวิตทั้งหลายกำลังจะสูญพันธุ์ ถูกทำลายล้างโดยการคุกคามของเทคโนโลยีก้าวหน้า สภาวะปั่นป่วนของบรรยากาศโลก ธรรมชาติผิดฤดูกาล และโรคอุบัติใหม่ จนไปถึงทุนนิยมครองโลก ซึ่งมนุษย์แทบไม่มีโอกาสใช้ชีวิตอย่างมีความสุขอีกต่อไป
วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฉบับนี้ รวมเอาบทความวิชาการทั้งเป็นผลส่วนหนึ่งของกระแสความเคลื่อนไหวของสังคมศาสตร์แบบหลังมนุษย์ คือ “เส้นชีวิตระหว่างลิงกังกับคนเลี้ยงลิง: สู่พื้นที่แบบหลังมนุษย์นิยมแห่งการอยู่อาศัยและการกลาย” ของ พัชราภรณ์ จักรสุวรรณ์ และ ชยา วรรธนะภูติ การศึกษาระหว่างมนุษย์กับรัฐ ซึ่งจะเรียกว่า “อมนุษย์” ก็คงได้ ในบทความเรื่อง “การพยายามสร้างสภาวะยกเว้นจากการบังคับใช้อำนาจรัฐของม้งในประเทศไทย” ของ อุไร ยังชีพสุจริต จนไปถึงงานวิชาการที่เรียกว่า “อมนุษย์ศึกษา” ใน “ป้ายรถเมล์กายสิทธิ์: วัตถุจำแลงของการเมืองในชีวิตประจำวันต่อโครงสร้างระบบขนส่งมวลชนสาธารณะในกรุงเทพมหานคร” ของ วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์ และชีวิตแรงงานภายใต้สถานการณ์โควิด 19 ของ กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ ใน “บทบาทของมาตรฐานแรงงานสากลในการจัดการทรัพยากรมนุษย์และการทำงานทางไกลระหว่างโคโรนาไวรัสแพร่ระบาด” แน่นอนว่า สังคมศาสตร์วิชาการที่ตระหนักถึงความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงในสังคมยังคงจำเป็นอยู่เช่นกัน ดังสะท้อนผ่านบทความ “Political Communication via Social Media: Future Forward Party’s Message Appeals and Media Format Usage on Facebook and Twitter and Links to Political Participation of Generation Z Audiences” ของ อัจฉรียา ประสิทธิ์วงศา และ อัจฉรา ปัณฑรานุวงศ์
สังคมศาสตร์ ฉบับนี้ถือเป็นงานส่งท้ายปี 2563 ปีที่มนุษย์เผชิญกับความปั่นป่วนจากการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ COVID 19 กันไปทั่วโลก จะว่าไป ปีที่กำลังจะผ่านไปนี้ คือปีแห่งการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ “โลกหลังมนุษย์” โดยแท้ หวังว่า ผู้อ่าน คงจะได้รับทั้งความรู้และอรรถรสเชิงวิชาการทั้งแบบเดิมและแบบใหม่ ซึ่งวารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยืนหยัดที่จะนำเสนอสู่บรรณพิภพอย่างมั่นคงเสมอมา