ภูมิปัญญาช่างทองอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ : กรณีศึกษากระบวนการสกัดทองคำและเงินบริสุทธิ์ด้วยวิธีกัดกรด

Main Article Content

สุทธา รัตนศักดิ์
พรรณวดี รัตนศักดิ์

บทคัดย่อ

งานวิจัยเรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการความรู้ภูมิปัญญาเรื่องการสกัดทองคำและเงินบริสุทธิ์ ด้วยวิธีกัดกรด ของช่างทองอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ และเพื่อประเมินค่าความบริสุทธิ์ของทองคำและเงินที่ผ่านการสกัดด้วยวิธีกัดกรด โดยมีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Random Sampling) คือผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาช่างทอง ของร้านทองเจียนบุญนาค ตำบลศรีพนมมาศ อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ ผู้วิจัยเพียงผู้เดียวเท่านั้น ดังนั้นผู้วิจัย จึงเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้และจัดการความรู้ภูมิปัญญาด้วยตนเอง


ผู้วิจัยดำเนินการจัดการความรู้ภูมิปัญญา ตามกระบวนการถ่ายทอดความรู้ซ่อนเร้น ให้เป็น ความรู้เด่นชัด ใช้วิธีการสาธิตในรูปแบบวีดิทัศน์และภาพนิ่งพร้อมการพรรณนาวิเคราะห์ เพื่อจัดเก็บเป็น คลังความรู้ สำหรับเผยแพร่ความรู้ ตามลำดับ


ผลการวิจัยพบว่า การจัดการความรู้ภูมิปัญญาเรื่องการสกัดทองคำและเงินบริสุทธิ์ด้วยวิธีกัดกรด ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ ได้แก่ 1. วัสดุและอุปกรณ์ 2. ขั้นตอนและกระบวนการ 3. การประเมินผล ซึ่งผู้วิจัยสามารถสรุปองค์ความรู้โดยการประยุกต์ และสร้างรูปแบบการสกัดโลหะมีค่าในแบบจำลองที่มีชื่อว่า “SUTTHA R. MODEL” ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ ได้แก่ S (Smelt) หลอม - U (Unify) รวม - T (Thin) รีด - T (Truncate) ตัด - H (Hasten Corrosion) กัด - A (Amass) เก็บ - R (Refinery) กลับ


เมื่อนำทองคำและเงินที่ผ่านการสกัดด้วยวิธีกัดกรดไปวิเคราะห์เพื่อประเมินค่าความบริสุทธิ์ ของโลหะด้วยเครื่องวิเคราะห์โลหะมีค่าพบว่า ทองคำมีค่าความบริสุทธิ์อยู่ในระดับร้อยละ 99.34 และ เงินมีค่าความบริสุทธิ์อยู่ในระดับร้อยละ 99.56 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ผู้วิจัยตั้งไว้

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

คติชนวิทยา, ศูนย์. (2550). รายงานการศึกษาโครงการวิจัยภาคสนามเรื่อง การคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย (ตามแผนพัฒนากฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาปี 2550 กิจกรรมที่ 2 เพื่อนำเสนอกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์. กรุงเทพฯ: ศูนย์คติชนวิทยา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

เที่ยงธรรม, สถาบัน (TTGI). (2556). การสกัดทอง. สืบค้นเมื่อ 3 เมษายน 2565. เข้าถึงได้จาก http://www.ttgold-institute.com/news/article_desc/38/

ประพนธ์ ผาสุขยืด. (2547). การจัดการความรู้ ฉบับมือใหม่หัดขับ. กรุงเทพฯ: ใยไหม.

ประภากร แก้ววรรณา. (2554). การจัดการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น. อุดรธานี: มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี.

ปราโมทย์ ภูพานทอง. (ม.ป.ป.). การทำทองให้บริสุทธิ์ด้วยกรดกัดทองและสารประกอบซัลไฟต์. กรุงเทพฯ : สำนักอุตสาหกรรมพื้นฐาน กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่

ผการัตน์ หาญวิวัฒน์วงศ์. (2549). รายงานวิชาการเรื่อง การแยกสกัดทองคำให้บริสุทธิ์ด้วยกรดออกซาลิก. กรุงเทพฯ : กลุ่มวิเคราะห์ สำนักอุตสาหกรรมพื้นฐาน กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่.

วัฒนะ จูฑะวิภาต. (2535). ศิลปหัตถกรรมของช่างทองเมืองเพชร ความเป็นมาและสภาพปัจจุบัน. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ.

ส่งเสริมวัฒนธรรม, กรม. (2558). คู่มือการเสนอขอขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ. กรุงเทพฯ: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์.

เอกวิทย์ ณ ถลาง และคณะ. (2546). ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการจัดการความรู้. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.