การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมเรื่องการอบรมเลี้ยงดูเด็กวัย 0 – 3 ขวบ ตามรูปแบบวิถีคริสเตียน สำหรับแม่วัยรุ่นกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่แดงคริสเตียน จังหวัดเชียงใหม่

Main Article Content

ชฎารัตน์ เป

บทคัดย่อ

  การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมเรื่องการอบรมเลี้ยงดูเด็กวัย 0 – 3 ขวบตามรูปแบบวิถีคริสเตียนสำหรับแม่วัยรุ่นกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่แดงคริสเตียน จังหวัดเชียงใหม่ โดย ดำเนินการวิจัยเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน ระยะที่ 2 สร้างหลักสูตรฝึกอบรมฯ ฉบับร่าง ระยะที่ 3 ทดสอบประสิทธิภาพของหลักสูตรฝึกอบรมฯ ประชากรที่ใช้ในระยะที่ 1 คือแม่วัยรุ่นกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่แดงในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 53 คน รวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์สภาพการเป็นคริสเตียนและการอบรมเลี้ยงดูเด็กวัย 0 – 3 ขวบตามรูปแบบวิถีคริสเตียน และนำข้อมูลมาวิเคราะห์หาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่ใช้ทดลองในระยะที่ 3 แบ่งเป็น กลุ่มทดลอง คือ เป็นแม่วัยรุ่นกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่แดงจากหมู่บ้านห้วยบวกหมู อำเภอไชยปราการ จังหวัด เชียงใหม่ จำนวน 10 คน ซึ่งได้รับการฝึกอบรมโดยใช้หลักสูตรที่สร้างขึ้น ส่วนกลุ่มควบคุมเป็นแม่วัยรุ่นกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่แดงจากบ้านห้วยทราย และบ้านทุ่งแดง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 9 คน ซึ่งได้ศึกษาคู่มือการอบรมเลี้ยงดูเด็กวิถีคริสเตียนด้วยตนเอง โดยใช้แบบทดสอบวัดความรู้ ความเข้าใจ และทักษะความสามารถในการอบรมเลี้ยงดูเด็กวัย 0 – 3 ขวบวิถีคริสเตียนทั้งก่อนและหลังการทดลอง เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาทดสอบความแตกต่าง และประเมินความพึงพอใจที่มีต่อหลักสูตรฝึกอบรมฯของกลุ่มทดลอง ผลการวิจัยพบว่า
   แม่วัยรุ่นกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่แดงคริสเตียน จังหวัดเชียงใหม่มีการปฏิบัติตามหลักทางคริสตศาสนาน้อยจึงส่งผลต่อความรู้ ความเข้าใจ และทักษะความสามารถในการอบรมเลี้ยงดูเด็กตามวิถีคริสเตียนที่อยู่ในระดับต่ำ และมีรูปแบบการอบรมเลี้ยงดูเด็กวิถีคริสเตียน ประกอบด้วย 5 หลักการ และ 4 วิธีการ ได้แก่ ยึดพระคริสตธรรมคัมภีร์เป็นต้นแบบในการอบรมเลี้ยงดูลูก ตระหนักถึงบทบาท หน้าที่หลักของพ่อแม่ มีความรักเป็นศูนย์กลาง เข้าใจพัฒนาการและธรรมชาติความผิดบาปของลูก และมีเป้าหมายเพื่อให้ลูก มีพัฒนาการแบบองค์รวม ส่วน 4 วิธีการ ได้แก่ การฝึก/สอน การตักเตือน ว่ากล่าว การปรับปรุงแก้ไขลูกให้ดี และการอบรมในทางธรรม
   สำหรับหลักสูตรฝึกอบรมที่สร้างขึ้นประกอบด้วยเนื้อหา 4 หน่วยการเรียนรู้ ได้แก่ การอบรมเลี้ยงดูเด็กวิถีคริสเตียน หลักการอบรมเลี้ยงดูเด็กวิถีคริสเตียน วิธีการอบรมเลี้ยงเด็กวิถีคริสเตียน และการอบรมเลี้ยงดูเด็กวิถีคริสเตียน โดยมีกิจกรรมการเรียนรู้ 15 กิจกรรม ซึ่งผลการประเมินหลักสูตรฝึกอบรมฯโดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่า แต่ละองค์ประกอบของหลักสูตร มีความสอดคล้องอยู่ในระดับสูง และมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากและเมื่อนำไปทดลองใช้ พบว่า กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ย หลังการอบรมโดยใช้หลักสูตรสูงกว่าก่อนการทดลองและกลุ่มควบคุมที่ศึกษาคู่มือฯ ด้วยตนเองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ 0.01 และยังพบว่ากลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจต่อหลักสูตรโดยภาพรวมเท่ากับ 4.29 ซึ่งเป็นความพึงพอใจ ในระดับมาก

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

ชวลิต ชูกำแพง. (2551). การพัฒนาหลักสูตร. กรุงเทพ ฯ: ดอกหญ้า.

ธันวรุจน์ บูรณสุขสกุล. (2555). พฤติกรรมและการเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่น. กรุงเทพ ฯ: สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์.

เพ็ญศรี แสวงเจริญ. (2549). การพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมพี่เลี้ยงในสถานสงเคราะห์เกี่ยวกับการสร้างสัมพันธ์ ความผูกพันในการเลี้ยงดูเด็ก. (ครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต). จุฬาลงกรณ์มหา วิทยาลัย. สืบค้นจาก ฐานข้อมูล ThaiLIS. Digital Collection.

ศิริกุล อิศรานุรักษ์ และ ปราณี สุทธิสุคนธ์. (2550). การอบรมเลี้ยงดูเด็ก. วารสารสาธารณสุขและการพัฒนา. 5(1), 105 –118.

สุธรรม นันทมงคลชัย และคณะ. (2548). ภาวะวิกฤตในครอบครัวกับการอบรมเลี้ยงดู แลพัฒนาการเด็กปฐมวัยและวัยเรียน. วารสารสาธารณสุขและการพัฒนา, 3(1), 1 – 7.

Anchalee Tengtragul. (2006). Factors Affecting the Learning Outcomes of Indigenous Students in Elementary School: The Case of Sahasart Suksa School, Chiang Rai Province, Thailand. MPhil Thesis (School of Education) Queensland : University of Queensland.

Juelsgaard, Matthew Ryan. (2013). Being Lahu in a Thai School : An Inquiry into Ethnicity, Nationalism, and Schooling. (Ph.D.) University of Hawai.

MacArthur. (1998). Successful Christian Parenting. The United States of America : Word Publishing.

Stormer, John. (1998). Growing up God’s Way. 10th printing. The United States of America : Liberty Bell Pr,.