กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค : ศึกษาวิจัยเปรียบเทียบระหว่างกฎหมาย ของประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

Main Article Content

สรียา กาฬสินธุ์

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงคุณภาพนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทฤษฎีและหลักการของกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) อันเป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เพื่อศึกษาถึงกฎหมายกลางว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคและหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ผลการวิจัยพบว่า กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคฉบับหลักของทั้งสองประเทศนั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยคุ้มครองผู้บริโภคโดยแท้จริงที่แม้มิเสียค่าตอบแทนก็ได้รับความคุ้มครอง และบทบัญญัติหลักในด้านโฆษณา ฉลาก และสัญญานั้นบัญญัติในลักษณะเดียวกันโดยแม้จะมีข้อแตกต่างในรายละเอียดแต่ในทางปฏิบัตินั้นก็ยังมีส่วนที่เป็นการคุ้มครองในแบบเดียวกัน และในข้อแตกต่างกันก็มีกฎหมายเฉพาะด้านฉบับอื่นรองรับเพียงแต่จะอยู่ภายใต้กำกับดูแลของหน่วยงานใดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ข้อแตกต่างที่ทำให้กฎหมายของ สปป. ลาว อาจแคบกว่าในการบังคับใช้ได้แก่กรณีการบังคับใช้กับผู้ประกอบธุรกิจโฆษณาซึ่งกฎหมายไทยบัญญัติครอบคลุมถึงด้วยในขณะที่กฎหมาย สปป. ลาว ไม่ได้บัญญัติไว้ นอกจากนี้ มาตรการการลงโทษและบทกำหนดโทษนั้น สปป. ลาว บัญญัติไว้อย่างเป็นขั้นตอนและลำดับ ซึ่งข้อนี้ ผู้ที่กระทำผิดโดยมิได้เจตนาจะมีโอกาสในการกลับตัว ซึ่งอาจเป็นข้อที่ประเทศไทยต้องพิจารณาเพิ่มเติม ในขณะเดียวกัน สปป. ลาวก็มิได้กำหนดโทษสำหรับผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่องและการกระทำผิดซ้ำเหมือนของประเทศไทย แต่ประเทศไทยก็ยังคงพบปัญหาผู้กระทำผิดซ้ำเป็นรายเดิม ๆ จึงควรต้องเพิ่มความเข้มงวดเพื่อให้ผู้กระทำเกรงกลัวกฎหมายมากขึ้น นอกจากนี้แต่ละประเทศภาคีสมาชิกอาเซียนต้องมุ่งสร้างการค้าเสรีระหว่างภาคีสมาชิก เพื่อวัตถุประสงค์มุ่งเน้นการสร้างตลาดเดียวและมีฐานการผลิตร่วมกันซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของ AEC และข้อที่สำคัญด้านการเยียวยาความเสียหายให้แก่ประชากรอาเซียนที่อาจได้รับความเสียหายจากสินค้าหรือบริการนั้น ประเทศไทยมีมาตรการเยียวยารองรับด้วยกฎหมายรวมสี่ฉบับเป็นอย่างน้อยที่กำหนดค่าสินไหมทดแทนอย่างชัดเจนหรือกองทุนเพื่อการเยียวยาที่กำหนดโดยกฎหมาย ในท้ายที่สุด เพื่อให้ทั้งสองประเทศเดินทางเข้าสู่ AEC โดยให้ความคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างครบถ้วนและมีมาตรการเยียวยาให้แก่ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายในต่างแดน ผู้วิจัยเห็นว่า ควรพัฒนากฎหมายให้รองรับในประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ครบถ้วนในทิศทางเดียวกัน (harmonization) โดยศึกษากฎหมายประเทศภาคีสมาชิกอาเซียนอื่นเพิ่มเติมเพื่อเป็นแนวทางในการสร้างกรอบและกฎเกณฑ์ที่สอดคล้องกันต่อไป นอกจากนี้ ควรมีการดำเนินการพิจารณาการบูรณาการของหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคทั้งหมดให้มีศูนย์กลางโดยจัดตั้งเป็นหน่วยงานกลาง (One Stop Service) ในประเทศและระดับอาเซียนโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง
ในส่วนของการเยียวยา ควรสร้างมาตรการเยียวยาที่รวดเร็วสำหรับประชากรอาเซียนที่เดินทางในต่างแดนมากกว่าการฟ้องคดี อาทิ การตั้งกองทุน กลไกการเยียวยาข้ามแดนโดยใช้เครื่องมือการระงับข้อพิพาททางเลือก รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยตั้งแต่การเริ่มร้องเรียนก็จะทำให้การเยียวยาทำได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ ควรสร้างความร่วมมือระหว่างภาคีสมาชิกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคอาเซียน เช่น การแจ้งเตือนสินค้าหรือบริการอันตราย ระบบสายด่วนผู้บริโภค (Call Center) เป็นต้น รวมถึงผลักดันให้ผู้ประกอบธุรกิจในประเทศภาคีสมาชิกอาเซียนตระหนักถึงความเป็นธรรมในการประกอบธุรกิจและสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจได้มีส่วนในการเยียวยาผู้บริโภคโดยตรง

Article Details

บท
บทความวิจัย