นิเวศวิทยาเชิงพุทธบูรณาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในการเสริมสร้างสุขภาวะและการเรียนรู้ของสังคมไทย
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1) ศึกษาแนวคิด ทฤษฎี หลักการที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศและผลกระทบ 2) ศึกษาการประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรมบูรณาการกับนิเวศวิทยาในการเสริมสร้างสุขภาวะและการเรียนรู้ของสังคมไทยเพื่อการพัฒนาจิตและสังคมอย่างยั่งยืนและ 3) วิเคราะห์และพัฒนารูปแบบและความสัมพันธ์ของภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะสงฆ์ และภาคประชาชน ในการบริหารจัดการนิเวศวิทยาเชิงพุทธเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพที่ใช้ประกอบด้วยการสำรวจเอกสาร การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก และการประชุมกลุ่มย่อย โดยใช้วิธีวิเคราะห์เชิงเนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา กิจกรรมของมนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงระบบนิเวศไปอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าช่วงเวลาใดๆ ในประวัติศาสตร์ อิทธิพลแนวคิดด้านวิทยาศาสตร์แบบลดทอนทำให้มนุษย์เข้าใจผิดว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ฉลาดกว่าผู้ใดและสามารถเอาชนะพลังยิ่งใหญ่ของธรรมชาติได้ทั้งยังได้สร้างความเสียหายแก่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม การพัฒนาที่มากเกินไปก่อให้เกิดความเห็นแก่ตัวและขาดจิตวิญญาณของการรับผิดชอบต่อทุกสรรพสิ่ง การประยุกต์หลักพุทธธรรมบูรณาการกับนิเวศวิทยาเพื่อการพัฒนาจิตและสังคมอย่างยั่งยืนได้วิเคราะห์ตัวอย่างจากกรณีศึกษา 6 กรณี และพบว่าหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นหลักธรรมที่ทุกหน่วยงานได้นำไปประยุกต์โดยอาจจะไม่ได้ใช้ภาษาธรรมดังที่เข้าใจทั่วไปแต่ได้ทำให้เกิดกระบวนการทำงานที่แสดงให้เห็นว่าองค์ธรรมทั้ง 3 ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ซึ่งในงานวิจัยฉบับนี้เรียกว่า “พุทธบูรณาการ” และมีการพัฒนาแปรเปลี่ยนไปตามหลักอิทัปปัจจยตาหรือความเป็นไปตามความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ถ้าทุกองค์กรได้นำหลักไตรสิกขาไปปฏิบัติย่อมหวังได้ว่าจะประสบความสำเร็จในการดูแลระบบนิเวศ พร้อมทั้งเกิดการพัฒนาจิตและสังคมได้อย่างยั่งยืน