“อหิงสา” สันติวิธีในกระแสธารภูมิปัญญาอินเดีย
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทความวิชาการชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวคิดเกี่ยวกับสันติวิธีในกระแสธารภูมิปัญญาอินเดียทั้งในยุคโบราณและสมัยใหม่ รวมทั้งมโนทัศน์อื่น ๆ ที่เป็นรากฐาน ผลการศึกษาพบว่า แนวคิดที่สำคัญของสันติวิธีในภูมิปัญญาอินเดียคือมโนทัศน์เรื่อง “อหิงสา” หมายถึง การไม่เบียดเบียนหรือทำร้าย ซึ่งแบ่งออกได้เป็นสองแบบ 1. อหิงสาในสองจารีตโบราณของอินเดีย ได้แก่ อหิงสาในจารีตพระเวทและจารีตพรตนิยม ความแตกต่างของสองจารีตนี้คือ หลักอหิงสาในจารีตพระเวทสามารถยกเว้นในสถานการณ์บางอย่างได้ตามข้อกำหนดของพระเวทเองและหลักสวธรรม หรือจริยศาสตร์เชิงหน้าที่ในปรัชญาอินเดียส่วนอหิงสาในจารีตพรตนิยมต้องยึดถือในทุกสถานการณ์โดยไม่มีข้อยกเว้น 2. อหิงสาสมัยใหม่ตามแนวคิดของมหาตมาคานธี ผู้ปรับปรุงมโนทัศน์เรื่อง อหิงสา โดยนำไปรวมกับหลักการยึดถือความสัตย์ อหิงสาจึงเป็นหนทางสู่พระเจ้าแบบหนึ่ง นอกจากนี้ยังพัฒนาแนวคิดอหิงสาเชิงบวก ตลอดจนหลักสัตยาเคราะห์ หรืออหิงสาในเชิงปฏิบัติอีกด้วย ส่วนรากฐานความคิดที่ก่อให้เกิดมโนทัศน์เรื่อง อหิงสาและสันติวิธีของอินเดีย ได้แก่ การยืนยันคุณค่าภายในที่มีอย่างเท่าเทียมกันของสรรพสิ่ง ความเชื่อมั่นในสัจธรรมหนึ่งเดียว และการเสียสละตนเอง