การพัฒนารูปแบบการสอนการจัดการเรียนรู้วรรณคดีไทยตามแนวคิดจิตวิทยาเชิงบวกโดยใช้รูปแบบ PERMA กับการจัดการเรียนรู้โดยใช้คุณลักษณะที่เป็นจุดแข็งเป็นฐานเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะของผู้เรียนระดับมัธยมศึกษา
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อ 1) พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้วรรณคดีไทยตามแนวคิดจิตวิทยาเชิงบวกโดยใช้รูปแบบ PERMA และการจัดการเรียนรู้โดยใช้คุณลักษณะที่เป็นจุดแข็งเป็นฐาน และ 2) ศึกษาผลของการจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้วรรณคดีไทยตามแนวคิดจิตวิทยาเชิงบวกโดยใช้รูปแบบ PERMA กับการจัดการเรียนรู้โดยใช้คุณลักษณะที่เป็นจุดแข็งเป็นฐานที่มีต่อสุขภาวะของผู้เรียน ประชากรในการวิจัยคือนักเรียนระดับมัธยมศึกษาของโรงเรียนชายล้วนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ขณะที่กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยคือนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 ของโรงเรียนเดียวกันนี้ จำนวน 1 ชั้นเรียน รวม 17 คน ซึ่งใช้วิธีการการคัดเลือกแบบเจาะจง (purposive sampling) การวิจัยมี 2 ระยะ คือ ระยะพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ และระยะการศึกษาผลของการใช้รูปแบบที่พัฒนาขึ้นที่มีต่อสุขภาวะของผู้เรียน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล คือ แบบวัดสุขภาวะ PERMA-Profiler และแบบสัมภาษณ์ผู้เรียนที่มีโครงสร้างคำถามหลักสัมพันธ์กับแบบวัดข้างต้น ขณะที่เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองคือแผนการจัดการเรียนรู้ที่ใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้วรรณคดีไทยตามแนวคิดจิตวิทยาเชิงบวกโดยใช้รูปแบบ PERMA ร่วมกับการจัดการเรียนรู้โดยใช้คุณลักษณะที่เป็นจุดแข็งเป็นฐาน สำหรับวรรณคดี 2 เรื่อง จำนวน 18 แผน ผู้วิจัยวิเคราะห์คุณภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน สำหรับข้อมูลที่ได้จากการทดลองผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้การทดสอบแชพพิโร-วิลค์ (shapiro-wilk test) และการทดสอบค่าทีแบบไม่เป็นอิสระ (t-test dependence) และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยใช้การวิเคราะห์แก่นโครงเรื่อง (thematic analysis) ซึ่งกำหนดการให้รหัสล่วงหน้า (priori coding) ด้วยองค์ประกอบ PERMA
ผลการวิจัยระยะที่ 1 พบว่ารูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นมีลักษณะบูรณาการรูปแบบ PERMA เข้ากับการจัดการเรียนรู้โดยใช้คุณลักษณะที่เป็นจุดแข็งเป็นฐาน รวมถึงมีการจัดการชั้นเรียนและสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ตามองค์ประกอบของรูปแบบ PERMA สำหรับผลการวิจัยระยะที่ 2 พบว่าผู้เรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบที่พัฒนาขึ้นมีสุขภาวะในภาพรวมสูงขึ้นกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 รวมถึงทุกองค์ประกอบย่อยยังสูงขึ้นกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เช่นกัน ทั้งนี้เพราะผู้เรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับสุขภาวะและแนวทางการพัฒนาสุขภาวะในด้านต่าง ๆ ผ่านการวิเคราะห์วรรณคดีที่ศึกษาและเชื่อมโยงกับประสบการณ์เดิมของตน ซึ่งก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจและการนำไปใช้ในชีวิตจริง