ปัญหาการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาด้วยระบบประเมินความเสี่ยงในชั้นพิจารณาคดีของศาล
Main Article Content
บทคัดย่อ
การศึกษาค้นคว้าอิสระนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาแนวคิด ทฤษฎี และหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยในการปล่อยชั่วคราวด้วยระบบประเมินความเสี่ยง (2) ศึกษากฎหมาย และมาตรการปล่อยชั่วคราวด้วยระบบประเมินความเสี่ยงตามกฎหมายไทยและต่างประเทศ ประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา และประเทศญี่ปุ่น (3) วิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคในการปล่อยชั่วคราวด้วยระบบประเมินความเสี่ยงและ (4) เสนอแนะแนวทางการแก้ไขกฎหมายและมาตรการปล่อยชั่วคราวด้วยระบบประเมินความเสี่ยง
การศึกษาค้นคว้าอิสระครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยวิธีการวิจัยทางเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตัวบทกฎหมาย ตำรา บทความ วิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ งานวิจัย วารสาร คู่มือการปฏิบัติงาน และข้อมูลจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศ
ผลการศึกษาพบว่า (1) การปล่อยชั่วคราวด้วยระบบประเมินความเสี่ยงมีหลักเกณฑ์ข้อจำกัดเฉพาะผู้ต้องหาหรือจำเลยที่มีคดีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และมีบุคคลรับรองความประพฤติและบุคคลอ้างอิงยืนยันความน่าเชื่อถือ การปล่อยชั่วคราวด้วยระบบประเมินความเสี่ยงยังไม่สามารถให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจำเลยได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ จึงเป็นเพียงการให้โอกาสผู้ต้องหาหรือจำเลยที่มีฐานะยากจนบางกลุ่มที่มีโอกาสเข้าถึงสิทธิในการปล่อยชั่วคราวด้วยระบบประเมินความเสี่ยงเท่านั้น (2) จากการศึกษากฎหมายสหรัฐอเมริกาให้สิทธิผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับการพิจารณาปล่อยชั่วคราวได้ทุกคดี ยกเว้นคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต ส่วนกฎหมายประเทศญี่ปุ่นมีกลไกการกลั่นกรองผู้ต้องหาตั้งแต่เริ่มดำเนินคดี และให้สิทธิจำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวในชั้นพิจารณาคดีของศาลเท่านั้น สำหรับประเทศไทยให้สิทธิผู้ต้องหาหรือจำเลยขอปล่อยชั่วคราวด้วยระบบประเมินความเสี่ยงโดยมีหลักเกณฑ์ข้อจำกัดเฉพาะตามที่ศาลกำหนด (3) ปัญหาการปล่อยชั่วคราวด้วยระบบประเมินความเสี่ยง คือ การจำกัดอัตราโทษผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่เกิน 5 ปี ไม่มีหน่วยงานสนับสนุนศาลด้านข้อมูลของผู้ต้องหาหรือจำเลย ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีบุคคลรับรองความประพฤติและบุคคลอ้างอิง ระดับความเสี่ยงและเงื่อนไขการกำกับดูแลไม่เหมาะสมกับอัตราโทษ ดังนั้น จึงมีข้อเสนอแนะ (4) แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 โดยบัญญัติเพิ่มเติมในส่วนของการวินิจฉัยคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต้องพิจารณาผลของการประเมินความเสี่ยงประกอบด้วย และแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 190 โดยบัญญัติเพิ่มเติมในส่วนของการลงโทษผู้ต้องหา
หรือจำเลยที่หลบหนีระหว่างการปล่อยชั่วคราวไว้เป็น มาตรา 190/1 บัญญัติว่า “ผู้ใดหลบหนีระหว่างการได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวไปจากศาล พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจให้ปล่อยชั่วคราวในคดีอาญา ต้องระวางโทษ...” โดยบทลงโทษสำหรับความผิดในการหลบหนีนั้นจะต้องไม่ระงับสิ้นไป เพราะเหตุที่มีการสั่งไม่ฟ้อง ยกฟ้อง จำหน่ายคดีหรือถอนฟ้องผู้ต้องหาหรือจำเลยผู้นั้นแต่ประการใด
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
References
คณิต ณ นคร. (2553). กระบวนการยุติธรรมกับสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน. วิญญูชน.
คณะทำงานประจำศูนย์ประเมินความเสี่ยงและการกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราว. (2564) ศาลอาญากรุงเทพใต้.
ชาญวิทย์ รักษ์กุลชน. (2556). สิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญ. (รายงานการอบรมหลักสูตรหลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย รุ่นที่ 1). วิทยาลัยรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพฯ.
ญาณินท์ เมฆหมอก. (2562). การปล่อยชั่วคราวตามกฎหมายไทยเปรียบเทียบกฎหมายต่างประเทศ. มหาวิทยาลัยศรีปทุม.
ดุษฎี โยเหลา, ธนวัฒ พิสิฐจินดา, นริสรา พึ่งโพธิ์สภ, ฐาศุกร์ จันประเสริฐ และ ณภัทรรัตน์ ไชยอัครกัลป์. (2560). พฤติกรรมศาสตร์เพื่อการจัดการความเสี่ยงในการปล่อยชั่วคราว. สำนักงานศาลยุติธรรม.
ธนพร จุลศรี สุนทรี บูชิตชน. (2563). ปัญหาความไม่เสมอภาคทางกฎหมายในการปล่อย ชั่วคราวจำเลยในคดีอาญา. วารสารปัญญาปณิธาน, 5(2), 83-94.
บรรเจิด สิงคะเนติ. (2555). หลักพื้นฐานเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์. (พิมพ์ครั้งที่ 4). โรงพิมพ์เดือนตุลา.
มุขเมธิน กลั่นนุรักษ์. ประพิณ ประดิษฐากร และธัญญานุช ตันติกุล. (2559). เงินไม่ใช่คำตอบ (อีกต่อไป): การปล่อยชั่วคราวที่ไม่ ยึดโยงกับฐานะหรือทรัพย์สิน กรณีศึกษาของศาลในระดับท้องถิ่น และระดับสหพันธรัฐ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา. ดุลพาห, 63(2), 38-79.
มุขเมธิน กลั่นนุรักษ์. ประพิณ ประดิษฐากร และธัญญานุช ตันติกุล. (2560). รายงานวิจัย เรื่องการนำวิทยาการบริหารความเสี่ยงเชิงพฤติกรรมศาสตร์มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปล่อยชั่วคราว, สำนักงานศาลยุติธรรม.
รัตนา ธมรัตน์. (2544). อำนาจรัฐในการควบคุมตัวผู้ต้องหา : ศึกษาเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
วรัญญา โชติพงศ์. (2562). แนวทางในการสร้างแบบประเมินความเสี่ยงในการปล่อยชั่วคราวก่อนการพิจารณาคดีในกลุ่มผู้ต้องหาหรือจำเลยคดียาเสพติด. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
วิชัย ศรีรัตน์. (2556). รายงานการวิจัยตัวชี้วัดสิทธิมนุษยชน. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน.
สำนักงานศาลยุติธรรม. (2560). คู่มือสำหรับการประสานความร่วมมือระหว่างศาลยุติธรรมกับ หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมในการนำร่องปฏิรูปการปล่อยชั่วคราวด้วยระบบประเมินความเสี่ยงและการกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราว. สถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์.
สำนักงานศาลยุติธรรม. (2560). คู่มือสำหรับผู้พิพากษาในการนำร่องปฏิรูปการปล่อย ชั่วคราวด้วยระบบประเมินความเสี่ยงและการกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราว. สถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์.
สำนักงานศาลยุติธรรม. (2560). โครงการประเมินความเสี่ยงและกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราว. สถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์.
สำนักงานศาลยุติธรรม. (2560). แนวทางการปฏิบัติงานเพื่อประสานงานระหว่างศาลยุติธรรมกับฝ่ายปกครอง (กำนันผู้ใหญ่บ้าน) ในโครงการพัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงและการกำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวในศาลยุติธรรม. สถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์.
สำนักงานศาลยุติธรรม. (2560). ประมวลคำถาม คำตอบ ข้อหารือ เกี่ยวกับการดำเนิน โครงการพัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงและกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราว. สถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์.
โสภณ รัตนากร มุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ กำพล รุ่งรัตน์ ศุภกิจ แย้มประชา. (2561). การปฏิรูปการปล่อยชั่วคราว: วิสัยทัศน์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี. ดุลพาห, 65(1), 18-42.
อติรุจ ตันบุญเจริญ. (2564). ศาลยุติธรรมบนเส้นทางการสร้างดุลยภาพแห่งสิทธิ. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชซิ่ง.