การลดทอนความผิดอาญาและการยกเลิกความผิดลหุโทษ: ศึกษาบทบัญญัติซึ่งไม่ครบตามองค์ประกอบของโครงสร้างของความผิดอาญา

Main Article Content

Supachalee Devahastin Na Ayudhya

บทคัดย่อ

ความผิดลหุโทษ เป็นความผิดที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดในการบัญญัติกฎหมายอาญาเพื่อคุ้มครองความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของการอยู่ร่วมกันในสังคม รวมถึงการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด จึงได้มีการบัญญัติให้การกระทำความผิดที่มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับไว้ในประมวลกฎหมายอาญาและมีโทษทางอาญา เมื่อพิจารณาถึงลักษณะของความผิดลหุโทษตามบทบัญญัติมาตรา 367 ถึงมาตรา 398 แล้ว ทำให้พบว่า บทบัญญัติของความผิดลหุโทษบางมาตราต้องการองค์ประกอบภายในส่วนของเจตนาแต่บางมาตราไม่ต้องการ ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากความผิดอาญาทั่วไปที่ถือว่าเจตนาเป็นสาระสำคัญของการวินิจฉัยความผิดอาญา การศึกษาวิจัยถึงแนวคิดในการกำหนดความผิดอาญา โครงสร้างของความผิดอาญา แนวคิดในการกำหนดโทษอาญาทั้งตามกฎหมายของประเทศไทยและประเทศที่ใช้ระบบซีวิลลอว์ แนวคิดในการลดทอนความผิดอาญา แล้วนำมาวิเคราะห์ร่วมกับเจตนารมณ์ของบทบัญญัติ มาตรา 77 วรรค 3 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งวางหลักให้ การกำหนดโทษทางอาญาในกฎหมายนั้น ให้กำหนดเฉพาะในความผิดร้ายแรง สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการบัญญัติกฎหมายที่มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การกำหนดทุกความผิดให้มีโทษทางอาญาสมควรได้รับการแก้ไข ในทางตรงข้ามการลดทอนความผิดอาญามีแนวโน้มในความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น งานวิจัยเล่มนี้ จึงเห็นควรว่าต้องมีการทบทวน แก้ไขบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญา ภาคลหุโทษ เพื่อให้ได้มาซึ่งแนวทางที่เหมาะสมในการจัดแบ่งกลุ่มของความผิดอาญาลหุโทษให้ชัดเจนเป็นระบบและสอดคล้องกับหลักวิชาการทางกฎหมายอาญาตลอดจนสภาพการณ์ของสังคมปัจจุบัน


ผลจากการศึกษาวิจัย ทำให้เข้าใจถึงแนวคิดในการกำหนดความผิดอาญาและได้มาซึ่งแนวทางการจัดแบ่งกลุ่มความผิดของบทบัญญัติ ภาคลหุโทษทั้ง 32 มาตรา ทั้งในส่วนของการกระทำที่เป็นความผิดอาญาและส่วนที่ไม่ควรเป็นความผิดอาญา โดยเสนอแนะในรูปแบบผสมผสานระหว่างแนวทางของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยจัดวางความผิดที่มีลักษณะของความผิดอาญาที่แท้จริง สอดคล้องกับหลักของโครงสร้างของความผิดอาญาไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 ความผิด และนำความผิดที่ไม่มีลักษณะของความผิดอาญา ไม่เป็นการกระทำที่เป็นก่ออันตรายหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนไปบัญญัติไว้ในกฎหมายอื่นซึ่งไม่มีการลงโทษทางอาญา ทั้งนี้ เพื่อให้การกำหนดความผิดอาญามีกรอบที่ชัดเจนเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพ ตลอดจนเป็นธรรมอย่างแท้จริง

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กษมาวดี ศุภภิญโญพงศ์. (2549). การปรับเปลี่ยนความผิดลหุโทษที่ไม่มีลักษณะเป็นความผิดอาญาโดยแท้เป็นความผิดต่อกฎระเบียบของสังคม : ศึกษาเฉพาะความผิดลหุโทษในประมวลกฎหมาย อาญา. [วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์].

คณิต ณ นคร. (2563). กฎหมายอาญาภาคทั่วไป. (พิมพ์ครั้งที่ 7). วิญญูชน.

คนันท์ ชัยชนะ. (2561). มาตรการทางกฎหมายสำหรับความผิดที่ไม่ร้ายแรง: กรณีศึกษากฎหมายว่าด้วย

การฝ่าฝืนกฎระเบียบของประเทศเยอรมนี. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา.

ณรงค์ ใจหาญ และคณะ. (2548). รายงานการศึกษาฉบับสมบูรณ์โครงการวิจัยเรื่องศึกษา ความเป็นไปได้

ในการกำหนดชั้นโทษและการนำไปปรับใช้ในประมวลกฎหมายอาญา. สำนักกิจการยุติธรรมกระทรวงยุติธรรม.

ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ. เอกสารประกอบการบรรยาย “ขอบเขตการกำหนดความผิดอาญา”. [ม.ป.พ].

เดชาศัย อินทรมณี. (2561). แนวทางการปรับปรุงความผิดลหุโทษ ในภาค 3 ประมวลกฎหมายอาญาไทย. วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยการจัดการและเทคโนโลยีอิสเทิร์น, 15(2).

ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ. (2564). ประมวลกฎหมายอาญา ฉบับอ้างอิง. (พิมพ์ครั้งที่ 45). วิญญูชน.

ปกรณ์ มณีปกรณ์. (2553). อาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา. เอ็ม.ที.เพรส.

ปริญญา จิตรการนทีกิจ. (2537). ความผิดลหุโทษ. นิติธรรม.

รณกรณ์ บุญมี. (2561). The criminal law as the ultima ratio : the principle that needs a qualification

กฎหมายอาญาต้องเป็นวิธีทางสุดท้าย : หลักการที่ต้องปรับปรุง. นิติธรรมประจักษ์ สุรศักดิ์ 60 ปี.

สุชาภร วิณิชย์สิริกุล. (2555). ความผิดลหุโทษตามประมวลกฎหมายอาญา : ศึกษาความผิดที่ผู้กระทำต้องมีเจตนา. [วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์].

สุรสิทธิ์ แสงวิโรจนพัฒน์. (2548). การใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษ. กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการศาลยุติธรรม สถาบันวิจัยรพีพัฒนศักดิ์ สำนักงานศาลยุติธรรม.

Baumann/ Weber/ Mitsch. (2003). Strafrecht AT (11.Auflage). Gieseking Buchverlag.

Constantin Lauterwein, Carl. (2010). The Limits of Criminal law : a comparative analysis of approaches to legal theorizing. Routledge.

Welzel, H. (1969). Das Deutsche Strafrecht. (11.Auflage). Berlin.