EVOLUTION SPIRITUAL DEVELOPMENT OF BUDDHIST UNIVERSITY CURRENT CONDITIONS AND PROBLEMS DEVELOPMENT MODEL FOR THE SECURITY OF BUDDHISM SUSTAINABLE
Main Article Content
Abstract
สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พุทธศักราช 235 โดยประมาณ พุทธศาสนาเริ่มถูกเผยแผ่เป็นครั้งแรก พระองค์ทรงอุปถัมภ์การทำสังคายนา ครั้งที่ 3 เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว ทรงส่งพระธรรมทูต 2 ท่าน คือพระโสณะและพระอุตตระ เดินทางสู่ดินแดนแถบนี้ที่เรียกว่า “สุวรรณภูมิ” ณ ขณะนั้นคงมีชนเผ่ามากกว่า 7 ประเทศรวมกันเช่น ไทย พม่า ศรีลังกา ญวน กัมพูชา ลาว และมาเลเซียโดยมีพวกละว้า และมอญโบราณอาศัยอยู่ แต่หลักฐานใน “หนังสือ 2,400 ปีในแหลมทอง” ได้แสดงไว้ว่า แท้จริงชนชาติไทยมีภูมิลำเนาดั้งเดิมอยู่ก่อน 2,000 – 3,000 ปีมาแล้ว ในบริเวณแหลมทองหรือสุวรรณภูมิ และนับว่าเป็นครั้งแรกของดินแดนนี้ที่ได้เริ่มนับถือพุทธศาสนา
วิชาวิปัสสนากรรมฐานนี้มีมาแต่ครั้งพุทธกาล เป็นหนทางเดียว และดำเนินไปโดยคนคนเดียว เกิดขึ้นและมีอยู่เฉพาะพุทธศาสนาหนึ่งเดียว โดยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นเอกบุคคลในโลกหนึ่งเดียวเท่านั้น และมีจุดมุ่งหมายเดียวคือ พระนิพพาน มีไวพจน์หรือคำต่างๆ เช่น วิปัสสนา มรรค อริยมรรคมีองค์ 8 เอกายะนะมัคฺโค สติปัฏฐาน 4 มรรคภาวนา กายภาวนา จิตภาวนา สติปัฏฐานภาวนา วิปัสสนากรรมฐาน หรือวิปัสสนาภาวนา โดยความหมาย คือ “การฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความรู้แจ้งตามความเป็นจริง ได้แก่ หลักหรือวิธีปฏิบัติเพื่อให้เกิดปัญญาเห็นแจ้งตามความเป็นจริงในขันธ์ 5 ว่า เป็นสภาวะที่ไม่เที่ยง “อนิจจัง” เป็นทุกข์ ทนได้ยาก “ทุกขัง” เป็นสภาวะที่ไม่ใช่บุคคล ตัวตน เราเขา บังคับบัญชาไม่ได้ เรียกว่า วิปัสสนา”
ในสถาบันการศึกษาขั้นสูงของคณะสงฆ์ มี มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้เปิดสอนอย่างเป็นระบบในเวลาที่ไล่เลี่ยใกล้เคียงกัน ในยุคต้นๆ วิชาการพัฒนาจิตเปิดสอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในชื่อว่า “วิชากรรมฐาน” แม้บางช่วงจะถูกตัดรอนเพราะการไม่เข้าใจของผู้บริหารเช่น สมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ เสนาบดีกระทรวงธรรมการในขณะนั้น เสนอว่าการปฏิบัติ วิปัสสนาธุระนั้นไม่ได้เป็นไปตามคำสอนในคัมภีร์วิสุทธิมรรค จึงเสนอให้ยกเลิกการสอนวิปัสสนาธุระของสายพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ประมาณ พุทธศักราช 2439 การปฏิบัติด้านวิปัสสนาธุระได้ขาดหายไปจากหลักสูตรการศึกษา ของคณะสงฆ์ไทย อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติกรรมฐานของคณะสงฆ์ก็ไม่ได้ขาดตอนจากคณะสงฆ์เพราะยังมีการประพฤติปฏิบัติกันในหมู่พระสงฆ์ทั้งในเมืองและชนบท
พุทธศักราช 2538 มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้บรรจุวิปัสสนากัมมัฏฐานรูปแบบบริกรรม พุทโธ เป็นหลักสูตรการศึกษาและมีการปฏิบัติภาคบังคับ 15 วัน รับผิดชอบและสอนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติโดย พระธรรมวิสุทธิกวี (พิจิตร ตวณฺโณ) และสืบต่อกันตลอดมาจนปัจจุบัน ที่ใช้ชื่อรายวิชานี้ว่า การพัฒนาจิต และมีการปฏิบัติเต็มรูปแบบ 15 วันก่อนจะจบการศึกษา ทั้งระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษา ปัจจุบันวิชากรรมฐานมีชื่อว่า “การพัฒนาจิต” เป็นรายวิชาบังคับ เริ่มด้วย การพัฒนาจิต 1 – การพัฒนาจิต 4 แต่ในส่วนของวิทยาเขตในสังกัดบางแห่งก็ใช้ชื่อว่า การปฏิบัติกรรมฐาน 1-4 แต่โดยเนื้อหาสาระและจุดประสงค์แล้ว คือ อันเดียวกัน ต่างกันเพียงชื่อเรียกเท่านั้น