การนำนโยบายยุติธรรมทางเลือกด้วยวิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทไปปฏิบัติ ของสำนักงานอัยการสูงสุดไทย

Main Article Content

ยงยุทธ ศักดิ์ชัยพานิชกุล

Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสถานะปัจจุบันในการนำนโยบายยุติธรรมทางเลือกด้วยวิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทไปปฏิบัติของสำนักงานอัยการสูงสุดไทย ปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสำเร็จในการนำนโยบายดังกล่าวไปปฏิบัติ ตลอดจนปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นและข้อเสนอแนะของผู้เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อเสนอแนวทางในการนำนโยบายยุติธรรมทางเลือกฯไปปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จ กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยข้าราชการที่เกี่ยวข้องโดยตรงทุกคนจำนวน 270 คน ผู้ไกล่เกลี่ย 390 คน และคู่กรณี 780 คนซึ่งสองกลุ่มหลังทำการคัดเลือกโดยการสุ่มตัวอย่างหลายขั้นตอน (Multi-stage random sampling) ทำการเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม ผลการวิจัยพบว่า ปัจจุบันสำนักงานอัยการสูงสุดกำหนดการนำนโยบายยุติธรรมทางเลือกไปปฏิบัติไว้ในยุทธศาสตร์ที่ 1 การบังคับใช้กฎหมายในการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน เป็นกลยุทธ์ที่ 1.4 พัฒนางานด้านกระบวนการยุติธรรมทางเลือก เพื่อลดปริมาณคดีอาญาขึ้นสู่ศาล และพบว่า มีเพียง 4 ตัวแปรจากทั้งหมด 8 ตัวแปรที่ศึกษาส่งผลต่อความสำเร็จของการนำนโยบายฯไปปฏิบัติ สามารถนำไปใช้พยากรณ์ได้ถูกต้องร้อยละ 46.10 คือ ปัจจัยด้านผู้ไกล่เกลี่ย ปัจจัยด้านคู่กรณี ปัจจัยด้านข้าราชการที่เกี่ยวข้องโดยตรง และปัจจัยด้านลักษณะขององค์การ นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจในกระบวนการยุติธรรมทางเลือกที่ใช้ในปัจจุบันในระดับสูงทั้งในภาพรวมและในรายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดเวลาในการดำเนินคดี และการลดค่าใช้จ่ายของทุกฝ่ายได้ สำหรับปัญหาอุปสรรค พบว่า ยังขาดกฎหมาย ระเบียบ พร้อมคู่มือการปฏิบัติที่ชัดเจน ข้าราชการที่เกี่ยวข้องโดยตรงขาดความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ และผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมีไม่เพียงพอ ข้อเสนอแนะจากการวิจัย คือ สำนักงานอัยการสูงสุดควรให้ความรู้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับปรัชญาและกระบวนการและวิธีการของนโยบายและจัดทำประกาศ ระเบียบปฏิบัติและคู่มือการปฏิบัติงานที่ชัดเจน ในการคัดเลือกผู้ไกล่เกลี่ย ต้องคำนึงถึงคุณสมบัติที่พบในงานวิจัยนี้ นอกจากนี้ผู้สนใจศึกษาการนำนโยบายยุติธรรมทางเลือกไปปฏิบัติสามารถใช้กรอบแนวคิดในการวิจัยนี้ไปใช้กับหน่วยงานอื่น และศึกษาตัวแปรอื่นเพิ่มเติม

Article Details

Section
Articles