จริยธรรมการตีพิมพ์

มาตรฐานทางจริยธรรมของวารสารชุมชนวิจัยและพัฒนาสังคม สำหรับบรรณาธิการ (Editor) ผู้ประเมินคุณภาพบทความ (Peer Review/Reviewer) และผู้เขียน/ผู้แต่ง/ผู้นิพนธ์ (Author)

            ภายใต้ขอบเขตของจริยธรรมและไม่ขัดต่อศีลธรรม บรรณาธิการ ผู้ประเมินคุณภาพบทความ และผู้เขียน/ผู้แต่ง/ผู้นิพนธ์ มีหน้าที่และบทบาทเป็นไปตามวารสารชุมชนวิจัยและพัฒนาสังคมแสดงไว้ ดังต่อไปนี้

            หน้าที่ของบรรณาธิการต่อการทำงานวารสาร

  1. ดำเนินการให้ตรงตามขอบเขต เป็นไปตามวัตถุประสงค์และสาขาการรับบทความของวารสาร และตามมาตรฐานทางวิชาการที่กำหนดไว้
  2. ดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพทางวิชาการของวารสารอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
  3. สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเชิงวิชาการของผู้เขียน และคงไว้ซึ่งความถูกต้องของผลงานทางวิชาการ
  4. พิจารณาบทความด้วยความเป็นกลาง ปราศจากอคติ และไม่นำความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาทางวิชาการมาตัดสินใจรับหรือปฏิเสธบทความ ยกเว้นมีการพิสูจน์ถึงปัญหาร้ายแรงที่เกิดขึ้น และหรือผู้เขียน/ผู้แต่ง ไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานที่วารสารกำหนดไว้
  5. ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้แต่งและผู้ประเมิน เว้นแต่บทความได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่เรียบร้อยแล้ว
  6. เผยแพร่เนื้อหาบทความด้วยความถูกต้องตามหลักทางวิชาการ ปกป้องมาตรฐานทรัพย์สินทางปัญญาจากความต้องการทางธุรกิจ และไม่แสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจกับผู้แต่ง ผู้อ่าน หรือผู้ประเมิน
  7. เต็มใจที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดการตีพิมพ์เพื่อให้เกิดความชัดเจน ถูกต้อง และขออภัยหากมีความจำเป็น ต้องถอด-ถอนบทความ
  8. ไม่เปลี่ยนแปลงการตัดสินใจตอบรับบทความที่ถูกปฏิเสธการตีพิมพ์ไปแล้ว ยกเว้นมีปัญหาร้ายแรงเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการส่ง การพิจารณา และยังไม่สิ้นสุดกระบวนการสู่การตีพิมพ์เผยแพร่

            บทบาทหน้าที่ของผู้เขียน/ผู้แต่ง/ผู้นิพนธ์

  1. บทความที่ส่งเข้าสู่กระบวนการพิจารณากับวารสาร ต้องไม่เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ต่อสาธารณชนและวารสารอื่นใดมาก่อน หรืออยู่ระหว่างพิจารณา หรือรอการตีพิมพ์เผยแพร่ ในทุกช่องทาง
  2. ต้องดำเนินการตามมาตรฐานและคำชี้แจงที่วารสารกำหนดไว้อย่างครบถ้วน สมบูรณ์ เรียบร้อย และยินดีปรับแก้ไขบทความตามคำแนะนำจากผู้ประเมินและบรรณาธิการด้วยความเต็มใจ
  3. บทความที่ส่งเข้าสู่กระบวนการพิจารณากับวารสาร ต้องมีการคัดลอกผลงาน (Plagiarism) ไม่เกินร้อยละ 20 โดยเนื้อหาของกระบวนการวิจัยต้องครบองค์ประกอบทางวิชาการและมีการอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลอย่างครบถ้วน ปราศจากการจัดการ ยักย้ายถ่ายเท (Manipulate) เปลี่ยนแปลง ปิดบัง หรือละเลยผลการศึกษาวิจัยโดยไม่มีคำอธิบายที่ถูกต้อง และผลการวิจัยต้องปราศจากการเสกสรรปั้นแต่งขึ้นเอง (Fabrication) หรือนำเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จ
  4. การนำเสนอเอกสารที่เกี่ยวข้องในบทความต้องอ้างอิงผลงานของผู้อื่นอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และต้องไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ของข้อมูล เนื้อหา และรูปภาพ ภายในบทความของตนเอง
  5. ผู้ร่วมวิจัย/ผู้เขียนที่มีชื่อปรากฏในบทความทุกคน ต้องให้ความยินยอมและลงชื่อรับทราบการส่งบทความกับวารสารครบถ้วน
  6. กรณีได้รับการรับรองจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ควรแสดงเอกสารรับรองกับทางวารสาร

            บทบาทหน้าที่ของผู้ประเมินคุณภาพบทความ

  1. ต้องพิจารณาบทความด้วยความเต็มใจตามศาสตร์ความรู้และความเชี่ยวชาญของตนเอง
  2. หากพบว่าเนื้อหาบทความมีความเกี่ยวข้องกับตนเองไม่ว่าจะเป็นทางใดทางหนึ่ง ต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบ เพื่อการลดอคติในการพิจารณาบทความ
  3. ต้องไม่นำบทความที่ได้รับมอบหมายให้พิจารณา หรือนำผลที่พบไปเขียนเป็นบทความเรื่องใหม่ของตนเอง
  4. ต้องพิจารณาบทความตามหลักคุณภาพทางวิชาการทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ พร้อมระบุผลการพิจารณาและแสดงเหตุผลประกอบเป็นลายลักษณ์อักษรให้กับบรรณาธิการทราบ
  5. ต้องทำการประเมินให้แล้วเสร็จและส่งผลการประเมินกลับภายในระยะเวลาที่บรรณาธิการกำหนดไว้