ลักษณะของถ้อยคำนัยผกผัน (verbal irony) ในการแสดงเดี่ยวไมโครโฟนครั้งที่ ๗-๑๐ ของอุดม แต้พานิช

Main Article Content

อรกัญญา อนันต์ทรัพย์สุข

บทคัดย่อ

หากกล่าวถึงการแสดงทอล์คโชว์ในลักษณะเดี่ยวไมโครโฟนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ทุกคนก็คงต้องนึกถึง “อุดม แต้พานิช”  อุดมเป็นบุคคลที่มีการใช้กลวิธีทางภาษาในการแสดงที่โดดเด่น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ถ้อยคำนัยผกผัน (verbal irony) เป็นกลวิธีเด่นในการแสดง บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ลักษณะของถ้อยคำนัยผกผัน (verbal irony) ที่ปรากฏในการแสดงเดี่ยวไมโครโฟนของอุดม แต้พานิช ว่ามีลักษณะอย่างไรบ้าง มีหลากหลายมากน้อยเพียงใด และมีลักษณะเด่นอย่างไร ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ได้มาจากดีวีดีบันทึกการแสดงสดเดี่ยวไมโครโฟนของอุดม แต้พานิช จำนวน ๖ ครั้ง คือ เดี่ยว ๗ เดี่ยว ๗.๕ เดี่ยว ๘ เดี่ยว ๙ เดี่ยว ๙.๕ และเดี่ยว ๑๐ แนวคิดหลักที่ใช้ในการวิเคราะห์คือ แนวคิดเรื่องถ้อยคำนัยผกผัน แนวคิดเรื่องหลักความร่วมมือในการสนทนาและความหมายเป็นนัยสนทนาของไกรซ์ (Grice, 1975) และแนวคิดเรื่องวัจนกรรมที่ Harverkate (1990) ได้เสนอไว้ว่าควรนำมาใช้ในการวิเคราะห์ถ้อยคำนัยผกผัน ผลการวิจัยพบว่า อุดม แต้พานิช ใช้ถ้อยคำนัยผกผันในการแสดงจำนวนทั้งสิ้น ๒๗๒ ถ้อยคำ ๑๔ ลักษณะ โดยแบ่งการวิเคราะห์ออกเป็น ๒ มุมมอง ได้แก่ ชนิดของถ้อยคำนัยผกผันที่พิจารณาตามลักษณะ และชนิดของถ้อยคำนัยผกผันที่พิจารณาตามมุมมองวัจนกรรม ชนิดของถ้อยคำนัยผกผันที่พิจารณาตามลักษณะแบ่งได้เป็น ๔ ลักษณะ ได้แก่ การกล่าวถ้อยคำที่มีความหมายขัดแย้งกับถ้อยคำใกล้เคียง การกล่าวถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรือไม่สมเหตุสมผล การกล่าวเน้นให้เกินจริงอย่างมาก และการใช้ถ้อยคำนัยผกผันแบบเสียงสะท้อนกลับ ซึ่งลักษณะที่พบมากที่สุดคือ  การกล่าวถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรือไม่สมเหตุสมผล การใช้ถ้อยคำนัยผกผันชนิดนี้มีข้อดีคือ แม้ว่าผู้ชมจะไม่ทราบปริบทก็สามารถรับรู้ถ้อยคำนัยผกผันได้จากความไม่สมเหตุสมผลของถ้อยคำที่กล่าวกับความเป็นจริงของโลก อีกทั้งความไม่สมเหตุสมผลยังช่วยสร้างอารมณ์ขันให้กับผู้ชมซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งของการแสดงอีกด้วย  ชนิดของถ้อยคำนัยผกผันที่พิจารณาตามมุมมองวัจนกรรม พบว่าอุดมจงใจละเมิดเงื่อนไขความจริงใจของวัจนกรรมต่าง ๆ เพื่อแนะความหมายนัยผกผัน พบทั้งสิ้น ๑๐ วัจนกรรม ได้แก่ วัจนกรรมการบอกกล่าว วัจนกรรมการถาม วัจนกรรมการแนะนำ วัจนกรรมการขอร้อง วัจนกรรมการอนุญาต วัจนกรรมการสัญญา วัจนกรรมการเสนอให้ วัจนกรรมการขู่ วัจนกรรมการชม และวัจนกรรมการขอบคุณ  ลักษณะของถ้อยคำนัยผกผันที่อุดมใช้มากที่สุดคือ ถ้อยคำนัยผกผันในรูปวัจนกรรมการถาม ซึ่งนอกจากจะช่วยสื่อความในเชิงประชดประชันแล้ว ยังเป็นการชี้นำให้ผู้ชมและบุคคลเป้าหมายได้ตระหนักและฉุกคิดถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น อันจะนำไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขในเรื่องนั้น ๆ ให้ดีขึ้น จากการศึกษาสามารถสรุปได้ว่า อุดม แต้พานิช มีการใช้ถ้อยคำนัยผกผันในลักษณะที่หลากหลายและความถี่สูง ซึ่งสังเกตได้จากอุดมจะใช้ถ้อยคำนัยผกผันในทุก ๆ ๕-๑๐ นาทีของการแสดงโดยประมาณ ซึ่งการใช้ถ้อยคำนัยผกผันในลักษณะที่หลากหลายและความถี่สูงเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า ถ้อยคำนัยผกผันเป็นกลวิธีเด่นในการแสดงเดี่ยวไมโครโฟนของอุดม แต้พานิช และการใช้ถ้อยคำนัยผกผันในหลายลักษณะยังเป็นการช่วยสื่อความนัยผกผันให้ผู้ชมรับรู้ได้ในหลาย ๆ ทาง นอกจากนั้นยังพบลักษณะเด่นของถ้อยคำนัยผกผันที่อุดมใช้ในการแสดงที่ค่อนข้างเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวของอุดม ได้แก่ ลีลาการเล่าเรื่องมาก่อนแล้วปิดท้ายด้วยการกล่าวถ้อยคำนัยผกผัน การใช้ถ้อยคำนัยผกผันหลายลักษณะในข้อความสั้น ๆ ตอนเดียว การใช้ถ้อยคำนัยผกผันโต้ตอบกับผู้ชมได้ทันทีโดยไม่ได้ผ่านการเตรียมบท (script) มาก่อน การใช้ถ้อยคำแวดล้อม (co-text) เพื่อให้ผู้ชมรับรู้ถ้อยคำนัยผกผันได้โดยไม่ต้องอาศัยปริบทหรือพื้นความรู้ในเรื่องนั้น ๆ มากนัก รวมไปถึงการใช้ถ้อยคำนัยผกผันในการประชดประชันประเด็นต่าง ๆ ทางสังคมและการเมืองที่หลากหลาย ถ้อยคำนัยผกผันที่อุดมเลือกมาใช้เป็นกลวิธีเด่นนั้น สามารถสร้างทั้งเสียงหัวเราะให้กับผู้ชมและประชดประชันเป้าหมายไปพร้อม ๆ กันได้ สิ่งนี้จึงทำให้ความตลกที่อุดมสร้างนั้นแฝงนัยของการประชดประชันและวิพากษ์วิจารณ์สังคมในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งแตกต่างไปจากความตลกของการแสดงในรูปแบบอื่น

Article Details

บท
Articles