บทบัณฑิตย์ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการรักษามาตรฐานทางจริยธรรมในการตีพิมพ์ (Publication Ethics)โดยอ้างอิงมาจากจริยธรรมในการตีพิมพ์ที่กำหนดโดย Committee on Publication Ethics (COPE) ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานการตีพิมพ์ที่เป็นที่ยอมรับในระดับระหว่างประเทศ เพื่อให้การดำเนินการตีพิมพ์และเผยแพร่บทความของบทบัณฑิตย์มีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่เชื่อถือและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของบทบัณฑิตย์ในการส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดความรู้ทางวิชาการในสาขาวิชานิติศาสตร์และสาขาอื่นที่เกี่ยวข้องแก่สังคมทั่วไป ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการตีพิมพ์และเผยแพร่บทความของบทบัณฑิตย์จะต้องมีบทบาทและหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ดังต่อไปนี้

บทบาทและหน้าที่ของกองบรรณาธิการ (Duties of Editors)

          1. กองบรรณาธิการต้องรักษามาตรฐานของนิตยสาร รวมทั้งพัฒนานิตยสารให้มีคุณภาพทางด้านวิชาการและมีความทันสมัยอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

          2. กองบรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณาและตรวจสอบคุณภาพของบทความก่อนการตีพิมพ์เผยแพร่ โดยพิจารณาในด้านต่าง ๆ เช่น ความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และขอบเขตของบทบัณฑิตย์ ความชัดเจนของเนื้อหาและองค์ความรู้ใหม่ของบทความ

          3. การพิจารณาและตรวจสอบคุณภาพของบทความจะต้องมีมาตรฐานและปราศจากอคติที่มีต่อบทความและผู้เขียนบทความในทุกด้าน เช่น เพศ ศาสนา เชื้อชาติ การเมือง วัฒนธรรม รวมถึงสังกัดของผู้เขียนบทความ

          4. กองบรรณาธิการต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยดำเนินการให้มีกระบวนการตรวจสอบบทความที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันการคัดลอกผลงานของผู้อื่น (Plagiarism)และไม่ตีพิมพ์บทความที่เคยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารหรือนิตยสารอื่นมาแล้ว

          5. ในกรณีที่มีข้อร้องเรียนหรือมีการตรวจพบว่า อาจมีการคัดลอกผลงานผู้อื่น กองบรรณาธิการมีหน้าที่ดำเนินการสอบถามเพื่อให้ผู้เขียนบทความได้ชี้แจงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว หากกองบรรณาธิการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่ามีการคัดลอกผลงานของผู้อื่นจริง กองบรรณาธิการมีหน้าที่ระงับการตีพิมพ์บทความดังกล่าวทันที หรือลงข้อความชี้แจงลงในนิตยสาร หรือดำเนินการอื่นใดตามความเหมาะสม

          6. กองบรรณาธิการต้องไม่กลับผลการพิจารณาตีพิมพ์บทความที่ตัดสินไว้แล้ว เว้นแต่กรณีมีปัญหาร้ายแรงที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการส่งบทความ

          7. กองบรรณาธิการชุดใหม่ต้องไม่กลับผลการพิจารณาตีพิมพ์บทความที่กองบรรณาธิการชุดเดิมได้ตัดสินไว้แล้ว เว้นแต่กรณีมีปัญหาร้ายแรงที่เกิดขึ้นระหว่างการพิจารณาของกองบรรณาธิการชุดเดิม

          8. กองบรรณาธิการต้องรักษามาตรฐานด้านจริยธรรมและทรัพย์สินทางปัญญาให้ปราศจากผลประโยชน์ทางธุรกิจ

          9. กองบรรณาธิการต้องเก็บรักษาความลับเกี่ยวกับบทความที่อยู่ระหว่างการพิจารณาลงตีพิมพ์ในบทบัณฑิตย์ รวมทั้งกำกับให้การพิจารณาประเมินคุณภาพบทความเป็นไปตามรูปแบบที่ผู้เขียนบทความไม่ทราบชื่อผู้ประเมินบทความ และผู้ประเมินบทความไม่ทราบชื่อผู้เขียนบทความ (Double-blinded review)

          10. กองบรรณาธิการต้องปฏิบัติตามกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ของวารสารอย่างเคร่งครัด

บทบาทและหน้าที่ของผู้เขียนบทความ (Duties of Authors)

          1.บทความที่ส่งมาเพื่อพิจารณาตีพิมพ์ในบทบัณฑิตย์จะต้องเป็นผลงานของผู้เขียนบทความเอง และเป็นผลงานที่ไม่เคยได้รับการตีพิมพ์หรือเผยแพร่ที่ใดมาก่อนรวมถึงไม่นำบทความไปตีพิมพ์หรือเผยแพร่ที่อื่นหลังได้รับการตอบรับลงตีพิมพ์จากบทบัณฑิตย์แล้ว

          2. ผู้เขียนบทความจะต้องไม่คัดลอกผลงานของผู้อื่น (Plagiarism) หรือมีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หากมีการอ้างอิงถึงผลงานของผู้อื่นในบทความของตน ผู้เขียนบทความจะต้องมีการอ้างอิงที่ถูกต้องตามรูปแบบที่กองบรรณาธิการกำหนดดังที่ปรากฏในคำแนะนำสำหรับผู้เขียนบทความบทบัณฑิตย์ทุกครั้ง

          3. ผู้เขียนบทความที่มีชื่อปรากฏในบทความทุกคนจะต้องเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการดำเนินการวิจัยหรือการเขียนบทความดังกล่าวอย่างแท้จริง

          4. ในกรณีที่บทความวิจัยมีการทดลองในมนุษย์หรือสัตว์ ผู้เขียนบทความต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่าได้มีการดำเนินการตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง หลักจริยธรรมสากล และแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลหรือได้รับอนุญาตจากหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี)

          5. ในกรณีที่บทความวิจัยได้รับทุนสนับสนุนทางด้านวิชาการในการดำเนินการวิจัยหรือผลิตผลงานทางวิชาการ ผู้เขียนบทความจะต้องระบุหรือเปิดเผยแหล่งทุนสนับสนุนดังกล่าวทุกครั้ง

บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ (Duties of Reviewers)

          1. ผู้ประเมินบทความต้องดำเนินการพิจารณาประเมินคุณภาพของบทความโดยใช้หลักเกณฑ์และองค์ประกอบการพิจารณาตามที่กองบรรณาธิการบทบัณฑิตย์กำหนด

          2. ผู้ประเมินบทความต้องดำเนินการพิจารณาประเมินคุณภาพของบทความโดยใช้ความรู้ความสามารถของตนในสาขาวิชาที่ตนเชี่ยวชาญ โดยพิจารณาในด้านการวิเคราะห์ในบทความ ความถูกต้องของข้อมูล ความสำคัญของบทความที่มีต่อสาขาวิชานั้นหรือต่อสังคม ทั้งนี้ ผู้ประเมินบทความจะต้องไม่ใช้ความคิดเห็นส่วนบุคคลที่ปราศจากหลักเกณฑ์หรือข้อมูลรองรับมาใช้ในการพิจารณาประเมินคุณภาพบทความ

          3. ผู้ประเมินบทความต้องดำเนินการพิจารณาประเมินคุณภาพบทความโดยปราศจากอคติที่มีต่อบทความและผู้เขียนบทความในทุกด้าน เช่น เพศ ศาสนา เชื้อชาติ การเมือง วัฒนธรรม รวมถึงสังกัดของผู้เขียนบทความ

          4. ในกรณีที่ผู้ประเมินบทความทราบหรือตระหนักว่าตนไม่มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับบทความที่ตนต้องดำเนินการพิจารณาประเมินนั้น หรือไม่มีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาของบทความดังกล่าว ผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้กองบรรณาธิการทราบถึงข้อขัดข้องดังกล่าวโดยทันที

          5. ผู้ประเมินบทความต้องดำเนินการพิจารณาประเมินคุณภาพบทความให้แล้วเสร็จภายในกรอบเวลาที่กองบรรณาธิการกำหนด ในกรณีที่เกิดเหตุขัดข้องที่ส่งผลให้การพิจารณาประเมินคุณภาพบทความนั้นต้องล่าช้าออกไป ผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้กองบรรณาธิการทราบถึงข้อขัดข้องดังกล่าวโดยทันที

          6. ผู้ประเมินบทความต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์จากบทความที่ตนได้ดำเนินการพิจารณาประเมินคุณภาพ

          7. ในกรณีที่ผู้ประเมินบทความตรวจพบว่า อาจมีการคัดลอกผลงานผู้อื่น (Plagiarism) ในบทความที่ตนกำลังดำเนินการพิจารณาประเมินคุณภาพนั้น ผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้กองบรรณาธิการทราบถึงประเด็นดังกล่าวโดยทันที