ญี่ปุ่นกับการพัฒนามาตรการริเริ่มเชียงใหม่ : บทบาท แรงจูงใจ และความท้าทาย

Main Article Content

นิรินธร มีทรัพย์นิคม

Abstract

ญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในการพัฒนามาตรการริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative: CMI) ซึ่งเป็นความตกลงแลกเปลี่ยนเงินตราทวิภาคีระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน+3 เพื่อเสริมสภาพคล่องระหว่างกันในกรณีที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงิน ปัจจุบัน CMI ได้พัฒนาไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralization: CMIM) ทั้งที่ญี่ปุ่นเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจถดถอย เหตุใดญี่ปุ่นถึงแสดงบทบาทเชิงรุกในการพัฒนามาตรการริเริ่มทางการเงินนี้ ญี่ปุ่นมีบทบาทอย่างไร และอะไรคือความท้าทายของญี่ปุ่น ในการอธิบายและวิเคราะห์บทบาทญี่ปุ่นในเรื่องนี้ บทความนี้ใช้กรอบแนวคิด “สัจนิยมเชิงเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ” เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ ผลการศึกษาพบว่า ญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญ 4 ประการด้วยกัน คือ 1) บทบาทในการนำเสนอความคิดเกี่ยวกับการจัดหาสภาพคล่องฉุกเฉินระหว่างประเทศ 2) บทบาทนำในฐานะเป็นผู้ให้ข้อผูกพันการในการให้สภาพคล่องทางการเงินฉุกเฉินระหว่างประเทศ 3) บทบาทในการเป็นผู้นำการเจรจาแลกเปลี่ยนเงินตราทวิภาคี และ 4) บทบาทในการเป็นผู้ประสานระหว่างสถาบันของภูมิภาคและสถาบันการเงินของโลก สำหรับแรงจูงใจของญี่ปุ่นในการพัฒนา CMI และ CMIM นั้น ผลประโยชน์แห่งชาติด้านเศรษฐกิจและการเมืองเป็นแรงจูงใจสำคัญของญี่ปุ่น ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ 1) CMI และ CMIM ช่วยรักษาเสถียรภาพทางการเงินภายในภูมิภาคเอเชียซึ่งญี่ปุ่นมีผลประโยชน์อย่างแนบแน่น 2) ญี่ปุ่นต้องการใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของตนที่มีปริมาณมหาศาลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และ 3) ญี่ปุ่นหวังให้ CMI และ CMIM เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะสนับสนุนการผลักดันเงินเยนให้เป็นสกุลเงินสากล สำหรับผลประโยชน์ทางการเมืองนั้น ได้แก่ 1) ญี่ปุ่นต้องการเสริมสร้างอำนาจของตนภายในภูมิภาคผ่านมาตรการริเริ่มภูมิภาคด้านการเงิน 2) CMI และ CMIM สร้างแนวการป้องกันความเสี่ยง และอำนาจต่อรองให้กับญี่ปุ่นและประเทศสมาชิก และ 3) ประเทศสมาชิกสามารถรวมจีนซึ่งมีอำนาจมากกว่าทั้งด้านเศรษฐกิจและการทหารในความร่วมมือภูมิภาคด้านการเงิน  ในการติดตามผลประโยชน์เหล่านี้ ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก

Article Details

Section
บทความวิจัยและบทความวิชาการ