โรคจิตเวชของกลุ่มประชากรคนไร้บ้านในเขตกรุงเทพมหานคร

Main Article Content

ถิรนันท์ ช่วยมิ่ง

บทคัดย่อ

การวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโรคจิตเวชกับสถานการณ์ก่อนและหลังภาวะไร้บ้านในกลุ่มประชากรคนไร้บ้าน และความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางจิตสังคมของคนไร้บ้านและการเปลี่ยนแปลงอาการของโรคจิตเวช กลุ่มตัวอย่างคือกลุ่มประชากรคนไร้บ้านในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 20 คน ซึ่งได้รับการวินิจฉัยจากเครื่องมือวินิจฉัย โรคจิตเวช Mini International Neuropsychiatric (Thai version) (5.0) (M.I.N.I) รวบรวมข้อมูลโดยผู้วิจัยด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก ตามหัวข้อคำถามที่สร้างขึ้น โดยมีเนื้อหาครอบคลุมวัตถุประสงค์ที่ต้องการศึกษา สัมภาษณ์เกี่ยวกับประวัติส่วนตัว สาเหตุสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจไร้บ้าน ประวัติความเจ็บป่วยทางจิตเวชของคนไร้บ้านทั้งในอดีตและปัจจุบัน ปัจจัยทางจิตสังคมของคนไร้บ้านและการเปลี่ยนแปลงอาการจิตเวชการวิเคราะห์ข้อมูลใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis)


ผลการศึกษาพบข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างสถานการณ์โรคจิตเวชก่อนไร้บ้านและหลังภาวะไร้บ้าน สถานการณ์โรคจิตเวชก่อนไร้บ้าน พบ 4 โรค ได้แก่ โรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว โรคติดสุราหรือสารเสพติด และโรคจิต สถานการณ์โรคจิตเวชในปัจจุบัน พบ 5 โรค ได้แก่ โรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว โรคติดสุราหรือสารเสพติด โรคจิต และโรควิตกกังวล พบว่า โรคจิตเวชมีความสัมพันธ์กับสาเหตุของการไร้บ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเป็นคนไร้บ้านคือผู้ที่มีอาการจิตเวชในระดับรุนแรง อาทิ โรคจิตหรือโรคอารมณ์สองขั้ว ซึ่งมีปัจจัยทางด้านสุขภาพจิตทับซ้อนกับปัญหาทางสังคม อันได้แก่ ปัญหาทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ความล้มเหลวของระบบการรักษาผู้ป่วยจิตเวช การสนับสนุนทางสังคม ทัศนคติทางลบ ความไม่รู้และไม่เข้าใจต่อผู้ป่วยจิตเวช ปัญหาเหล่านี้เป็นระเบิดเวลาที่จะสร้างปัญหาให้กับคุณภาพประชากรในอนาคตอย่างเลี่ยงไม่พ้น ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความเข้มแข็งในระดับชุมชน ไปจนถึงระดับนโยบายส่วนกลาง พัฒนาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการแก้ไขปัญหาผู้ป่วยจิตเวช โดยเริ่มต้นได้จากการสร้างความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับโรคจิตเวชให้กับคนในชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดอคติทำให้เกิดความอาทร นำไปสู่ความช่วยเหลือของชุมชนที่จะมีต่อผู้ป่วยจิตเวชและครอบครัว เพื่อที่จะไม่ต้องแบกรับปัญหาและการแก้ไขสถานการณ์ปัญหาต่าง ๆ เพียงลำพัง เป็นการดีหากมีพื้นที่ในการฟื้นฟู ดูแล ผู้ป่วยจิตเวชที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ จะมีเพิ่มขึ้นและเป็นต้นแบบในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชอย่างรอบด้านเป็นสิ่งที่ได้เริ่มขึ้นโดยชุมชนที่เข้มแข็งเป็นสำคัญ

Article Details

บท
บทความวิจัย (Research Article)