สถานการณ์ครอบครัวและแนวทางการดำเนินงานสร้างความเข้มแข็งของกลไกหนุนเสริมเพื่อสร้างครอบครัวสูงวัยคุณภาพ กรณีศึกษาชุมชนเมืองศรีไค
Main Article Content
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาลักษณะการทำงานของหน่วยงานในระดับตำบลที่ทำหน้าที่หนุนเสริมการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว 2) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์เชิงกลไกในการทำงานพัฒนาครอบครัวระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 3) เพื่อศึกษาแนวทางในการดำเนินการพัฒนาระบบกลไกพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่สนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งของกลไกหนุนเสริมการสร้างครอบครัวสูงวัยคุณภาพ ทำการศึกษาการทำงานของหน่วยงานที่เป็นกลไกสร้างความสัมพันธ์ของครอบครัวในระดับตำบล โดยเก็บข้อมูลจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญและการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์และการสังเกตอย่างไม่มีส่วนร่วม และการประชุมกลุ่มย่อย โดยสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน 50 คน ประกอบด้วยหัวหน้าหน่วยงาน คณะกรรมการ บุคลากรของหน่วยงานจำนวน 7 หน่วยปฏิบัติการ รวม 36 แห่ง/กลุ่ม ผลการศึกษามีดังนี้
ประการแรก ลักษณะการทำงานของหน่วยงานในระดับตำบลที่ทำหน้าที่หนุนเสริมการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว ยังเป็นการทำงานตามภารกิจและหน้าที่รับผิดชอบเป็นหลัก โดยกลไก “บวร” ซึ่งประกอบด้วย บ้าน วัด และโรงเรียน ยังเป็นกลไกสำคัญในการทำงานขับเคลื่อนด้านครอบครัว โดยกลุ่มที่ทำงานสัมพันธ์กับการทำงานสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวในชุมชน มักจะเป็นกลุ่มผู้นำชุมชน อาสาสมัครชุมชน และปราชญ์ชุมชน
ประการที่สอง ความสัมพันธ์เชิงกลไกในการทำงานพัฒนาครอบครัวระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีทั้งความสัมพันธ์แบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ สำหรับความสัมพันธ์ที่เป็นทางการ ในมิติเชิงนโยบาย การทำงานร่วมกันในระดับรัฐกับชาวบ้านยังเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจผ่านกลไกการสั่งการเป็นหลักการพัฒนาหน่วยงานบางหน่วยงานยังไม่มีความชัดเจน เช่น การพัฒนาสภาเด็กและเยาวชน อย่างไรก็ดี การทำงานร่วมกันยังมีการทำงานในลักษณะขอความร่วมมือ โดยส่วนหนึ่งใช้ความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการ เช่น ความเป็นเครือญาติ เพื่อน ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรที่เป็นผู้ปฏิบัติงานมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ช่วยให้การทำงานต่าง ๆ สำเร็จลุล่วงได้ง่าย นอกจากนี้ ยังสามารถมองมิติความร่วมมือในระดับชุมชนทั้งในเชิงพื้นที่ และเชิงสังคมวัฒนธรรม
ประการที่สาม แนวทางในการดำเนินงานพัฒนากลไกพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ควรสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมเพื่อพัฒนาหน่วยงานและบุคลากรในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นไปที่การสร้างความเข้มแข็งของศูนย์พัฒนาครอบครัวของชุมชนก่อนเพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมประสานกิจกรรมพัฒนาอื่นที่เกี่ยวข้อง
Article Details
1) บทความนี้เป็นลิขสิทธิ์ของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ความคิดเห็นและเนื้อหาเป็นของผู้แต่ง
2) ทัศนะและข้อคิดเห็นในวารสารวิจัยสังคมเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน มิใช่ทัศนะและข้อเขียนของกองบรรณาธิการฯ หรือสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ประสงค์จะนำข้อความใดๆ ไปผลิต / เผยแพร่ซ้ำต้องได้รับอนุญาตจากผู้เขียนและกองบรรณาธิการวารสารวิจัยสังคม ว่าด้วยกฎหมายลิขสิทธิ์