โรคระบาดโควิด-19: ทำอะไรกับโลกและทำให้โลกเป็นอย่างไร

Main Article Content

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์

บทคัดย่อ

ปาฐกถา/ข้อเขียนนี้อาจไม่นำเสนอประเด็นซ้ำจากการเสวนาครั้งที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2563 และอาจไม่ได้นำเสนอประเด็นภาวะผู้นำ เช่นที่ทางผู้จัดประสงค์เท่าใดนัก แต่ต้องการจะชี้ชวนให้ตั้งคำถามที่ว่า ‘โรคระบาดอย่างโควิด-19 ได้ทำอะไรกับโลก คือ เปลี่ยนโลกไปเป็นอย่างไร? หากมองผลกระทบในความคิดเรื่องบ้าน และความคิดต่อการให้อยู่กับบ้านมีปัญหา เพราะสำหรับบางคนบ้านไม่ได้น่าอยู่เท่ากันสำหรับทุกคนแม้อาจจะกว้างขวางในเชิงพื้นที่ หรือบางคนที่ไม่สามารถอยู่บ้านได้ เพราะสิ่งที่เรียกว่า “บ้าน” เป็นเพียงที่ซุกหัวนอน ซึ่งกลายเป็นการก่อปัญหาให้ผู้คนที่เคยอยู่ใน “บ้าน” ชนิดนั้นได้เพราะไม่ต้องใช้เวลาใน “บ้าน” เช่นนั้นมากนัก หรือความมั่นคงในเชิงที่ต้องแยกกันระหว่างเรื่อง ‘ชีวิต’ (life) และการใช้ชีวิต (livelihood) ดูเหมือนมาตรการต่าง ๆ เป็นไปเพื่อการรักษาชีวิต แต่ว่าการใช้ชีวิตภายใต้สถานการณ์กดบังคับเพื่อรักษาชีวิตจะเป็นอย่างไร? ซึ่งเป็นอีกโจทย์หนึ่ง เมื่อพิจารณางานศึกษาของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ เอง จะพบว่ามักสนใจเรื่องการใช้ชีวิตของผู้คนอยู่มาก อาทิ แรงงานในยุคโควิด-19 หายไปไหน? เป็นต้น หากย้อนไปดูคำถามที่ว่า ‘โควิด-19 ทำอะไรกับโลก’ สิ่งที่ควรทำ คือ พิจารณาความสัมพันธ์ 2 ชุด ที่สำคัญยิ่งต่ออารยธรรมของมนุษย์ ถือได้ว่าเป็น “critical relationship” เป็นสดมภ์หลักของอารยธรรมมนุษย์ก็ว่าได้ เพื่อพิเคราะห์ว่าความสัมพันธ์ทั้งสองชุดนั้นกำลังแปรเปลี่ยน กร่อน ผุพัง หรือเข้มแข็งขึ้นอย่างไร ความสัมพันธ์ทั้ง 2 ชุด คือ 1) ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และ 2) ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง

Article Details

บท
บทความพิเศษ (Special Article)