ทิ้งใครไว้ข้างหลัง: แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19

Main Article Content

วิภาวดี พันธุ์ยางน้อย

บทคัดย่อ

การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นวิกฤตสาธารณสุขที่พลิกโลกให้ผกผัน รัฐบาลไทยมีนโยบายช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่นายกรัฐมนตรีประกาศว่าจะ “ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่งในหลักการควรเป็นโยบายที่ครอบคลุมทุกคนทุกกลุ่มในสังคม โดยไม่เลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ และให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเพื่อให้สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือเยียวยาได้อย่างเสมอภาค บทความนี้ศึกษานโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ ร่วมกับสำรวจชีวิตแรงงานข้ามชาติภายใต้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกแรกและระลอกที่สอง จากการศึกษาพบว่า ในภาวะปกติแรงงานข้ามชาติถือเป็นกลุ่มเปราะบางอยู่แล้ว ทั้งจากการมีรายได้น้อยสวนทางกับค่าใช้จ่ายในการทำงานและอาศัยอยู่ต่างประเทศ การเข้าไม่ถึงสิทธิแรงงานบางประการเนื่องจากมีข้อจำกัดทางภาษา ถูกกีดกันด้วยเงื่อนไขทางกฎหมายและสัญชาติ ถูกเลือกปฏิบัติจากการบังคับใช้กฎหมาย เมื่อโรคโควิดแพร่ระบาด แรงงานข้ามชาติมักเป็นกลุ่มแรกที่ถูกเลิกจ้าง ขาดรายได้ แทบเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน เผชิญปัญหาด้านสถานะเมื่อไม่มีนายจ้างหรือใบอนุญาตทำงานหมดอายุ แต่กระนั้น แรงงานข้ามชาติกลับแทบหล่นหายไม่มีตัวตนในนโยบายช่วยเหลือเยียวยาของรัฐที่เน้นกำหนดสิทธิให้เฉพาะบุคคลสัญชาติไทย ส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ชดเชยการว่างงานมีข้อติดขัดจนทำให้หลายคนเข้าไม่ถึงสิทธิพึงมี ทั้งนี้ การกีดกันและการเลือกปฏิบัติด้วยเงื่อนไขด้านสัญชาติที่มีสาเหตุหนึ่งมาจากแนวคิดความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติที่อยู่ในฐานคิดทางนโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ ถือเป็นเงื่อนไขที่ส่งผลอย่างมีนัยยสำคัญให้แรงงานข้ามชาติกลายเป็นกลุ่มเปราะบางในภาวะปกติ และถูกทิ้งไว้ข้างหลังในยุคโควิด ส่วนท้ายของบทความได้อภิปรายในหลักการด้านแนวปฏิบัติ นโยบาย และกฎหมายที่เป็นข้อจำกัด รวมถึงข้อเสนอเพื่อปลดล็อกให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงสิทธิอย่างเสมอภาคทั้งในภาวะปกติและวิกฤตโรคระบาด

Article Details

บท
บทความวิจัย (Research Article)