การพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ทางจิตวิทยาของนิสิตจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยโปรแกรมการให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) สร้างโปรแกรมการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มเพื่อพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ทางจิตวิทยาของนิสิตจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2) เปรียบเทียบคุณลักษณะที่พึงประสงค์ทางจิตวิทยาของนิสิตกลุ่มทดลอง ก่อนการทดลอง หลังการทดลอง และหลังการติดตามผล 3) เปรียบเทียบคุณลักษณะที่พึงประสงค์ทางจิตวิทยาของนิสิตกลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุม ก่อนการทดลอง หลังการทดลอง และหลังการติดตามผล
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ คือ นิสิตปริญญาตรี ภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มีคะแนนเฉลี่ยของคุณลักษณะที่พึงประสงค์ทางจิตวิทยาตั้งแต่เปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 25 ลงมา จำนวน 18 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 9 คน โดยกลุ่มทดลองเข้าร่วมโปรแกรมการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มเพื่อพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ทางจิตวิทยา เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือแบบสอบถามคุณลักษณะที่พึงประสงค์ทางจิตวิทยา และโปรแกรมการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มการวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์ความแปรปรวนสองทางแบบวัดซ้ำ และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวแบบวัดซ้ำ ผลการวิจัยสรุปได้ ดังนี้ 1. โปรแกรมการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มเพื่อพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ทางจิตวิทยาของนิสิตจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ ขั้นเริ่มต้นกลุ่ม ขั้นการให้คำปรึกษากลุ่ม และขั้นยุติการให้คำปรึกษากลุ่ม โดยมีการบูรณาการทฤษฎีและเทคนิคการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มที่หลากหลาย 2. คุณลักษณะที่พึงประสงค์ทางจิตวิทยาโดยรวมและรายด้านของนิสิตกลุ่มทดลองหลังการทดลอง และหลังการติดตามผล สูงกว่าก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 3. คุณลักษณะที่พึงประสงค์ทางจิตวิทยาโดยรวมและรายด้านของนิสิตกลุ่มทดลอง หลังการทดลอง และหลังการติดตามผล สูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 แสดงว่าโปรแกรมการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มมีผลให้คุณลักษณะที่พึงประสงค์ทางจิตวิทยาของนิสิตจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น