การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อเสริมทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้
Main Article Content
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มุ่งจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและศึกษาผลของการจัดกิจกรรมดังกล่าวที่ช่วยเสริมทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาปริญญาตรี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชาจิตวิทยากับพฤติกรรมมนุษย์ ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 3 กลุ่มเรียน รวมทั้งสิ้น 333 คน โดยวิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน เก็บรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ
ผลการศึกษาพบว่า 1. การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ช่วยเสริมทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 นั้น ประกอบด้วย 6 ประเด็น คือ 1.1 ลักษณะผู้สอน 1.2 การเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียน 1.3 สอนน้อยลง เรียนรู้มากขึ้น 1.4 การฝึกความรับผิดชอบในการเรียน 1.5 สื่อและนวัตกรรมในการจัดการเรียนการสอน 1.6 การประเมินผลและสะท้อนผลเชิงบวก 2. ผลจากข้อมูลเชิงคุณภาพ พบว่า
หลังจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อเสริมทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ผู้เรียนมีทักษะดังกล่าวครบทุกด้าน สอดคล้องกับข้อมูลเชิงปริมาณ ซึ่งพบว่า 2.1 ผู้เรียนมีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ก่อนและหลังแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 ทั้งโดยรวมและรายด้านย่อย 2.2 ผู้เรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแตกต่างกันมีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 หลังเรียนไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2.3 ผู้เรียนมีทัศนคติโดยรวม “เห็นด้วย” กับการจัดการเรียนการสอนเพื่อเสริมทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21