แนวทางการเสริมสร้างองค์กรแห่งความสุขในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

Main Article Content

ทิพวัลย์ รามรง
สานิต ฤทธิ์มนตรี

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้วิธีการสุนทรียสาธกมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาหาข้อมูลที่เป็นประสบการณ์เชิงบวก หรือสิ่งที่บุคลากรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ประทับใจ ปัจจัยที่ส่งผลให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุขในองค์กร และหาแนวทางการเสริมสร้างองค์กรแห่งความสุขในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประชากรที่ศึกษา คือ กลุ่มบุคลากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มผู้บริหารมหาวิทยาลัย จำนวน 5 คน 2) กลุ่มคณบดี คณาจารย์ หรือตัวแทนคณะต่างๆ จำนวน 10 คน และ 3) กลุ่มบุคลากรสนับสนุนและช่วยวิชาการ จำนวน 16 คน โดยวิธีการสุ่มแบบเจาะจง


ผลการวิจัยพบว่า ประสบการณ์เชิงบวกของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้บริหารระดับคณะ คณาจารย์ รวมถึงบุคลากรสายสนับสนุนและช่วยวิชาการ ส่วนใหญ่จะมีความประทับใจในความสัมพันธ์ความเป็นพี่เป็นน้อง เป็นความสัมพันธ์ที่เป็นมิตร จริงใจ มีความเป็นกันเอง ช่วยเหลือกัน เหมือนอยู่ในบ้านหลังที่ 2 แต่ในเรื่องความสุขผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้บริหารระดับคณะ คณาจารย์มีความสุขที่มีเพื่อนร่วมงานมีความรักสามัคคี ให้ความช่วยเหลือ ร่วมมือกันทำงาน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และยอมรับซึ่งกันและกัน แต่บุคลากรทั้งสายสนับสนุนและช่วยวิชาการ จะมีความสุขในความก้าวหน้าในอาชีพ การได้รับการสนับสนุนให้สามารถพัฒนาตัวเอง ทั้งเรื่องงาน ตำแหน่ง หรือการที่ผู้บริหาร หัวหน้างานเห็นความสำคัญ ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้พนักงานมีความสุขในองค์กร ได้แก่ 1) บรรยากาศองค์กรที่ร่มรื่น น่าอยู่น่าทำงาน รวมถึงบรรยากาศทางชีวภาพที่มีเพื่อนร่วมงานที่เป็นพี่เป็นน้อง ช่วยเหลือกัน 2) ความผูกพันกับองค์กรที่มีมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่เป็นนิสิต จนกระทั่งทำงานบางกลุ่มทำงานในมหาวิทยาลัยตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ และบางส่วนมีโอกาสเข้ามาตามกิจกรรมต่างๆ เช่น เกษตรแฟร์ 3) ความรักในงานที่ทำ เป็นความภูมิใจที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ถือว่ามีชื่อเสียง
เป็นที่พึ่งของประชาชน เกษตรกร และ 4) การเป็นที่ยอมรับจากเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน หรือผู้บริหาร ที่คอยให้การสนับสนุน และผลักดันให้เจริญก้าวหน้า สำหรับแนวทางพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งความสุขในกลุ่ม ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้บริหารระดับคณะ คณาจารย์ เป็นกิจกรรมที่สามารถสร้างความสัมพันธ์เพื่อให้รู้จักกัน
ให้อยู่ร่วมกัน หรือ ทำกิจกรรมร่วมกันจนเกิดความผูกพันกัน และต้องจัดในรูปแบบ วนคณะ มีเจ้าภาพรับผิดชอบสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปตามคณะต่างๆ กลุ่มบุคลากร ควรจะได้รับการส่งเสริมการพัฒนาระบบการทำงาน สามารถพัฒนาตัวเอง ทั้งเรื่องงาน และตำแหน่ง

Article Details

บท
บทความวิจัย