สถานการณ์ข่าวลวง: การเปรียบเทียบ ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และแบบจำลอง

Main Article Content

Theethavat Janevatchararuk

บทคัดย่อ

บทความนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) เปรียบเทียบสถานการณ์ข่าวลวงในช่วง Yellow Press การโฆษณาชวนเชื่อ และข่าวลวงบนโซเชียลมีเดีย (2) เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยร่วมที่เกี่ยวข้องและเป็นรากฐานของข่าวลวงจากการเปรียบเทียบสถานการณ์ข่าวลวงดังกล่าว และ (3) จัดทำแบบจำลองเพื่ออธิบายลักษณะของวงจรข่าวลวงในสื่อ 


สถานการณ์ข่าวลวงเกิดขึ้นในการสื่อสารของมนุษย์มามากกว่า 100 ปี เพียงแต่แตกต่างกันที่ลักษณะของภูมิทัศน์สื่อในแต่ละยุค ซึ่งข่าวลวงจากทั้ง 3 ช่วงเวลา มีปัจจัยพื้นฐานในลักษณะเดียวกัน 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก ข่าวลวงจะปรากฏขึ้นด้วยพาดหัวข่าวที่ชวนสงสัย ดึงดูดความสนใจ ประการที่สอง ปัจจัยอันเกิดจากการรับรู้อันอ่อนไหวของมนุษย์ (Naïve perception) และประการสุดท้ายคือ ลักษณะการปรากฏขึ้นบ่อยครั้งของข่าวลวงทำให้ข่าวลวงนั้นมีการแพร่กระจายออกไปได้ในวงกว้างมากขึ้น โดยทั้ง 3 ปัจจัยนี้ส่งผลต่อกันเป็นลำดับ กล่าวคือ เมื่อมนุษย์มีการรับรู้ข่าวลวงจากความน่าสนใจของพาดหัวข่าว มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายข่าวลวงนั้นออกไปได้ และบุคคลอื่นที่เห็นข่าวลวงนั้นปรากฏขึ้นบ่อยครั้ง ก็จะเข้าใจว่าข่าวนั้นเป็นข่าวที่มีความสำคัญจึงมีปฏิสัมพันธ์ต่อข่าวลวงนั้นซ้ำ ๆ จนทำให้เกิดการแพร่กระจายข่าวลวงออกไปในวงกว้าง


ข้อเสนอแนะจากบทความนี้ มุ่งเน้นให้เกิดการแก้ปัญหาการแพร่กระจายของข่าวลวงที่ต้นเหตุ หรือปัจจัยต่าง ๆ ตามที่ได้วิเคราะห์ข้างต้น รวมถึงการให้ความรู้เรื่องปัจจัยที่มีผลต่อข่าวลวง ตลอดจนการจัดทำมาตรการเพื่อควบคุมหรือมีบทลงโทษแก่ผู้ที่เผยแพร่ข่าวลวงโดยคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานที่เกี่ยวข้องต่อไปในอนาคต

Article Details

บท
บทความวิชาการ