กระบวนการติดตามเด็กและเยาวชนกระทำความผิดภายหลังออกจากกระบวนการยุติธรรม

Main Article Content

วรภัทร รัตนาพาณิชย์

บทคัดย่อ

ในปัจจุบัน เด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด ซึ่งพ้นจากกระบวนการยุติธรรมแล้ว หากมิได้มีกระบวนการติดตามเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดภายหลังออกจากกระบวนการยุติธรรม อาจจะทำให้เด็กและเยาวชนกระทำความผิดซ้ำอีก บทความนี้จึงต้องการศึกษาถึงแนวทางติดตามการกระทำความผิดซ้ำของเยาวชนจากกรณีศึกษา 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย และประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาแนวทางติดตามเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด ภายหลังออกจากกระบวนการยุติธรรม โดยงานวิจัยฉบับนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพและใช้ระเบียบวิจัยเชิงพรรณนา


ผลจากการศึกษาพบว่า ประเทศเนเธอร์แลนด์มีการติดตามเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด ด้วยวิธีการใช้แบบประเมินความเสี่ยงสำหรับการกระทำความผิดซ้ำ (measures of recidivism) อันประกอบด้วย การใช้ประชากรเป็นฐานในการสร้างแบบประเมินความเสี่ยงสำหรับการกระทำผิดซ้ำโดยมีระยะเวลาติดตามผลตั้งแต่หนึ่งปีถึงแปดปี และมีการดูแลภายหลังปล่อยตัว โดยจัดทำแผนการบำบัดแก้ไขฟื้นฟูเด็กและเยาวชนเฉพาะรายแบบไร้รอยต่อ (Uninterrupted Tailor-Made Routing) โดยนำการประเมินผลทางจิตมากำหนดแนวทางในการวางแผนชีวิตให้เหมาะสมกับแต่ละคน อีกทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ติดตามเด็กและเยาวชนจะให้คำปรึกษาและจัดทำแผนให้ความช่วยเหลือแก่เด็กและเยาวชนเสนอต่อคณะกรรมการว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก (Board of Child Protection) ทำให้เด็กและเยาวชนที่ออกจากศูนย์ฝึกอบรมสามารถอยู่ในสังคมได้และแก้ปัญหาการกระทำความผิดซ้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่ประเทศออสเตรเลียมีการนำการติดตามเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด ด้วยวิธีการจำแนกประเภทของเด็กและเยาวชน มาเป็นเครื่องมือในการจำแนกปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุแห่งการกระทำความผิด เพื่อวางแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเป็นรายบุคคล กระบวนการบำบัดแก้ไขฟื้นฟูเด็กและเยาวชนเป็นกระบวนการแก้ไขปัญหาซึ่งเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การกระทำความผิด สำหรับประเทศไทยพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาศาลเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการติดตามเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด ภายหลังออกจากกระบวนการยุติธรรม จึงเสนอให้มีแนวทางในการติดตามและประเมินผลอย่างชัดเจน พระราชบัญญัติดังกล่าวควรจะมีการจำแนกลักษณะการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชน และการพัฒนาระบบดูแลเด็กและเยาวชนภายหลังพ้นจากกระบวนการยุติธรรม


 

Article Details

บท
บทความวิจัย