มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญากับการแก้ไขบำบัดฟื้นฟู เด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทความวิชาการนี้มีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการ ได้แก่ 1) เพื่อศึกษาถึงรูปแบบและวิธีการใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาในชั้นก่อนฟ้องและชั้นการพิจารณาคดีตามมาตรา 86 และ 90 แห่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 และ 2) เพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนผู้กระทำผิด รวมถึงการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาตามหลักมาตรฐานสากล วิธีการศึกษาเน้นการศึกษาจากเอกสาร และรายงานการวิจัยที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษาสะท้อนให้เห็นว่า มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาในชั้นก่อนฟ้องและชั้นการพิจารณาคดีมีการดำเนินการผ่านรูปแบบการประชุมกลุ่มครอบครัวและชุมชน โดยมีเป้าหมายคือ การผันคดีเด็กและเยาวชนออกจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และเปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดซึ่งเป็นเด็กและเยาวชนได้รับการคุ้มครองและพัฒนาทางด้านจิตสังคมอย่างต่อเนื่องแทนการดำเนินคดีอาญาเพื่อนำไปสู่การสำนึกในการกระทำ และผู้เสียหายได้รับการเยียวยาชดใช้ความเสียหายตามสิทธิและความเหมาะสม ต่างฝ่ายต่างสามารถกลับไปดำเนินชีวิตในชุมชนและสังคมได้อย่างปกติสุขโดยผู้กระทำความผิดไม่หวนไปกระทำผิดซ้ำ รวมถึงสังคมและชุมชนมีความสงบและปลอดภัย ส่วนแนวทางการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนผู้กระทำผิด รวมถึงการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาตามหลักมาตรฐานสากลนั้น พบว่า กระบวนการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเป็นกระบวนการทำงานในลักษณะเป็นรายกรณี ซึ่งต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของทีมสหวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับแผนการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูตามสภาพปัญหาของเด็กและเยาวชนผู้กระทำผิดในแต่ละรายตามแนวทางการบริหารจัดการกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนในทิศทางที่เน้นรูปแบบการมีส่วนร่วมของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกกระบวนการยุติธรรม โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กและเยาวชนเป็นหลัก