การศึกษาความร่วมมือด้านการวิจัยข้ามภาคส่วนระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย: กรณีศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

Main Article Content

ชุติมน ศรีนวกะตระกูล
ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาองค์ประกอบความร่วมมือข้ามภาคส่วนด้านการวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กับภาคอุตสาหกรรมที่เคยทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบที่ส่งผลต่อประสิทธิผลความร่วมมือ และ 3) เสนอแนะแนวทางการสนับสนุนความร่วมมือข้ามภาคส่วนด้านการวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรม โดยบูรณาการแนวความคิดความสัมพันธ์ระหว่างองค์การ ทฤษฎีการพึ่งพาทรัพยากร และทุนทางสังคม โดยใช้รูปแบบการวิจัยแบบผสมผสานวิธี (Mixed methods research design) แบบการวิจัยรองรับภายใน (Embedded design) โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกแบบกึ่งโครงสร้าง ด้วยการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลหลัก จำนวน 6 คน และระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณจากการรวบรวมข้อมูลแบบสอบถาม จำนวน 234 ชุด โดยทำการวิเคราะห์เส้นทางสมการโครงสร้างเพื่อตอบสมมติฐานการวิจัย รวมถึงการวิเคราะห์อิทธิพลทางตรง อิทธิพลทางอ้อม และอิทธิพลรวม ของปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิผลความร่วมมือ


ผลการศึกษา พบว่า 1) องค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลต่อประสิทธิผลความร่วมมือ ประกอบด้วย ปัจจัยด้านทรัพยากรที่ใช้ในการแลกเปลี่ยน ทุนทางสังคม กลไกการบริหารความร่วมมือแบบร่วมกันกำกับดูแล (Shared governance) และปัจจัยด้านคุณลักษณะขององค์การ 2) ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบ พบว่า ปัจจัยด้านทรัพยากรที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนมีอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อประสิทธิผลความร่วมมืออย่างมีนัยสำคัญ โดยอิทธิพลทางอ้อมส่งผลผ่านทุนทางสังคมและการบริหารความร่วมมือแบบร่วมกันกำกับดูแล ในขณะที่คุณลักษณะขององค์การมีอิทธิพลทางอ้อมต่อประสิทธิผลความร่วมมือเท่านั้น ดังนั้น ปัจจัยทางด้านคุณลักษณะขององค์การ และการมีทรัพยากรที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนเพียงอย่างเดียวไม่ได้เป็นหลักประกันประสิทธิผลความร่วมมือ และ 3) การทำความร่วมมือด้านการวิจัยข้ามภาคส่วนระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรมจึงควรให้ความสำคัญต่อมิติด้านกระบวนการสร้างความสัมพันธ์และกลไกการบริหารความร่วมมือจะทำให้การถ่ายโอนความรู้ด้านการวิจัยจากมหาวิทยาลัยสามารถถ่ายทอดไปสู่ภาคอุตสาหกรรมได้ดียิ่งขึ้น

Article Details

บท
บทความวิจัย