พรานบุญ: การประกอบสร้างความหมายและการกลายมาเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม

Main Article Content

ปุรินทร์ นาคสิงห์

บทคัดย่อ

การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาการประกอบสร้างความหมายให้กับ “พรานบุญ” ในบริบทร่วมสมัย และ 2) เพื่อศึกษาการการประกอบสร้างความศักดิ์สิทธิ์และการกลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม ด้วยวิธีวิจัยเชิงคุณภาพจากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างที่มีความเชื่อเกี่ยวกับหน้าพราน และตีความตัวบทจากเอกสาร หนังสือ และสื่อที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อมูลที่ปรากฏในเพจเฟสบุ๊คของกลุ่มผู้นับถือ และวิเคราะห์โดยใช้กรอบทฤษฎีปฏิสังสรรค์สัญลักษณ์ และทฤษฎีการประกอบสร้างความเป็นจริงทางสังคม ผลการศึกษาพบว่า 1) ความหมายของหน้าพรานถูกประกอบสร้างขึ้นใน 3 ลักษณะ คือ “ตัวตลก” “ตัวละคร” และ “ครู/บรรพชน” โดยความหมายในฐานะตัวละครในวรรณคดีเรื่องพระสุธนมโนห์ราถูกผลิตซ้ำและรับรู้จากผู้ชมทางสังคมมากที่สุด 2) การประกอบสร้างความศักดิ์สิทธิ์นั้นมีองค์ประกอบสำคัญ 4 องค์ประกอบ คือ เจ้าพิธีต้องสืบเชื้อสายโนรา มีเรื่องเล่าหรือตำนานรองรับ พิธีกรรมต้องครบทั้งพิธีฆราวาสและพิธีสงฆ์ และมีประสบการณ์เป็นที่โจษขาน ส่วนการกลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมเป็นการเปลี่ยนความเชื่อให้กลายเป็นทุน ทำให้หน้าพรานกลายเป็นสินค้าซึ่งอาศัยองค์ประกอบสำคัญคือการสื่อสารทำให้หน้าพรานเป็นที่รู้จักแพร่หลาย และความพิเศษของหน้าพรานที่สร้างขึ้นทำให้เกิดความต้องการของตลาด

Article Details

บท
บทความวิจัย