กัญญานุสร: หนังสืออนุสรณ์งานศพที่แสดงทัศนคติเกี่ยวกับสตรี ของปัญญาชนสยามในสมัยรัชกาลที่ 6
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทความนี้มุ่งศึกษาทัศนคติเกี่ยวกับสตรีของปัญญาชนสยามในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่ปรากฏในเรื่องกัญญานุสร หนังสืออนุสรณ์งานศพของนางสาวลม่อม สีบุญเรือง ผลการศึกษาพบว่าปัญญาชนสยามใช้วรรณกรรมเรื่องดังกล่าวเป็นพื้นที่ในการยกย่องอดีตยอดสตรีเพื่อแสดงให้ผู้อ่านเห็นว่าสตรีไม่ว่าจะเชื้อชาติใด ศาสนาใด หรือเป็นคนชนชั้นใด ล้วนแล้วแต่เคยสร้างคุณประโยชน์แก่ส่วนรวมและมีคุณสมบัติที่ไม่แตกต่างจากบุรุษมาตั้งแต่อดีต พร้อมกับนำเสนอภาพของนางสาวลม่อม สีบุญเรืองให้เป็นสตรีสยามหัวก้าวหน้าที่ “เก่ง” และ “ดี” เพื่อยกย่องให้เกียรติผู้วายชนม์ และเชื่อมโยงให้ผู้อ่านเห็นเป็นรูปธรรมว่า สตรีที่มีความรู้ความสามารถมีตัวตนอยู่จริงในสังคมสยาม นอกจากนี้ ปัญญาชนสยามยังใช้กลวิธีทางวรรณศิลป์ที่แปลกใหม่ในการยกย่องนางสาวลม่อม สีบุญเรือง แสดงให้เห็นว่าผู้วายชนม์เป็นสตรีสามัญชนที่มีบทบาทสำคัญทั้งในฐานะนักคิดนักเขียนที่เป็นสตรีสมัยใหม่ และในฐานะบุตรีผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนายเซียว
ฮุตเสง สีบุญเรือง ชาวจีนสยามผู้มีบทบาทสำคัญในสังคมไทยช่วงปลายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์