บทวิเคราะห์คำพิพากษาศาลฎีกา คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1148/2565 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 713/2566 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1943/2566 (ประชุมใหญ่)

Main Article Content

ศาสตราจารย์พิเศษไพโรจน์ วายุภาพ

บทคัดย่อ

       บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์หลักกฎหมายตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1148/2565 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 713/2566 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1943/2566 (ประชุมใหญ่)


       ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1148/2565 ศาลได้หยิบยกประเด็นเรื่องเขตอำนาจศาลและอำนาจฟ้องขึ้นวินิจฉัยในกรณีที่คู่ความฝ่ายหนึ่งตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาตามยอมแล้วฟ้องคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งให้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นคดีใหม่ ซึ่งผู้เขียนมีข้อสังเกตในรายละเอียดเกี่ยวกับการปรับบทกฎหมายในคดีดังกล่าว


       ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 713/2566 ศาลได้วินิจฉัยในประเด็นฟ้องซ้อน โดยศาลเห็นว่ากรณีที่โจทก์ในคดีก่อนและคดีหลังต่างฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกเพื่อขอแบ่งทรัพย์มรดก แต่ทรัพย์ที่ขอแบ่งในแต่ละคดีเป็นคนละทรัพย์สินกันนั้นจึงไม่เป็นฟ้องซ้อน ผู้เขียนได้นำประเด็นตามคำพิพากษาศาลฎีกามาตั้งเป็นข้อสังเกตเพื่อวิเคราะห์และศึกษามาตรา 173 วรรคสอง (1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ห้ามมิให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันและศาลอื่น


       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1943/2566 (ประชุมใหญ่) วินิจฉัยเกี่ยวกับประเด็นคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญา ตามมาตรา 44/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งกำหนดว่าในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่เรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้ แต่อย่างไรก็ดี มาตรา 44/1 ไม่ได้กำหนดขอบเขตของคำร้องที่เรียกเอาค่าสินไหมทดแทนของผู้เสียหายว่าต้องเป็นคำร้องตามฐานความผิดที่พนักงานอัยการขอให้ลงโทษจำเลยด้วยหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ศาลได้วางหลักไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1943/2566 (ประชุมใหญ่) สอดคล้องกับหลักการตีความตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และน่าจะเป็นคำพิพากษาหนึ่งที่นักกฎหมายนำมาเป็นแนววินิจฉัยต่อไปได้

Article Details

บท
หมายเหตุท้ายคำพิพากษาศาลฎีกา