บทวิเคราะห์คำพิพากษาศาลฎีกา คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 128/2566 ที่ 2354/2566 ที่ 3643/2566 และที่ 3098/2566
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์หลักกฎหมายตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 128/2566 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2354/2566 และประมวลกฎหมายอาญาที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3643/2566 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3098/2566
ระหว่างพิจารณาโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 1 เพื่อระงับข้อพิพาท กรณีนี้จะทำให้หนี้กู้ยืมเดิมระงับไปหรือไม่ และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ค้ำประกันจะยกเหตุการทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้ให้ตนไม่ต้องรับผิดได้หรือไม่ อย่างไร ผู้เขียนมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการปรับบทประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในประเด็นนี้ตามคำวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 128/2566
คดีเดิม ศาลยกฟ้องโจทก์ด้วยเหตุที่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันเกินหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ต่อมา โจทก์ได้แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวโดยบอกกล่าวไปจำเลยและยื่นฟ้องจำเลยเข้ามาเป็นคดีใหม่อีก ดังนี้ ฟ้องโจทก์คดีหลังจะเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 หรือไม่ อย่างไร ผู้เขียนมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการเหตุผลตามคำวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2354/2566
คำว่า “วัตถุใด ๆ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 วรรคหนึ่ง จะมีความหมายถึงเพียงว่าวัตถุที่ถูกกระทำให้เกิดเพลิงไหม้นั้นจะต้องเป็นของผู้กระทำให้เกิดเพลิงไหม้เท่านั้นหรือไม่ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยและผู้เขียนได้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับคำวินิจฉัยดังกล่าวในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3643/2566
การที่พนักงานสอบสวนมีคำสั่งให้จำเลยในฐานะผู้ต้องหาในความผิดลหุโทษพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรม แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 หรือไม่ ผู้เขียนมีข้อสังเกตเป็นความเห็นที่แตกต่างจากคำวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3098/2566
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.