บทวิเคราะห์คำพิพากษาศาลฎีกา คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 523/2562 ที่ 6233/2564 และที่ 296/2567
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์หลักกฎหมายตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 523/2562 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6233/2564 และหลักกฎหมายตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญาที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 296/2567
โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินกับการรถไฟแห่งประเทศไทยโดยมีข้อสัญญากำหนดหน้าที่ ให้ผู้เช่ามีหน้าที่และรับภาระในการขับไล่ผู้บุกรุกหรือผู้ประกอบการเดิม รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ผู้เช่าต้องรับภาระในการดำเนินการและแก้ไขโดยเสียค่าใช้จ่ายด้วยทุนทรัพย์ของผู้เช่าเอง ภายหลังทำสัญญา โจทก์ไม่สามารถเข้าครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินบางส่วนได้เนื่องจากจำเลยได้เข้ามาครอบครองอาศัยอยู่ก่อน โจทก์จะมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้โดยตรงหรือไม่ อย่างไร ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 523/2562 ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นที่แตกต่างดังรายละเอียดในหมายเหตุท้ายฎีกา
โจทก์ฝากเงินไว้กับจำเลยซึ่งประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์และเป็นผู้ให้บริการการใช้หรือโอนเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่และคอมพิวเตอร์ ต่อมาเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ถูกโอนไปยังบัญชีเงินฝากของผู้อื่นโดยเป็นบัญชีเดียวกันหรือชื่อบัญชีเดียวกันหลายครั้งติดต่อกันในช่วงเวลาเดียวกันในเวลากลางคืนย่อมเป็นพฤติกรรมในการทำธุรกรรมทางการเงินที่ผิดปกติ จำเลยมีหน้าที่ที่จะต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันการโอนเงินหรือการทำรายการหรือธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ชอบเพื่อป้องกันมิให้มีความเสียหายเกิดขึ้นหรือไม่ เพียงใด ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6233/2564 ซึ่งผู้เขียนมีข้อสังเกตในหมายเหตุท้ายฎีกา
คำว่า “โดยทุจริต” ตามบทนิยามในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (1) ซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานลักทรัพย์จะมีความหมายครอบคลุมถึงกรณีที่จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยสามารถทำได้ในพฤติการณ์นั้นด้วยหรือไม่ เพียงใด ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 296/2567 ซึ่งผู้เขียนมีข้อสังเกตในหมายเหตุท้ายฎีกา
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.