Vol. 25 No. 2 (2013): พหุวัฒนธรรม

					View Vol. 25 No. 2 (2013): พหุวัฒนธรรม

ในแต่ละสังคม ไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ภูมิภาค หรือนานาชาติ ย่อมมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์อยู่ในตัวเองเพียงแต่ว่าในแต่ละยุคสมัยนั้นความหลากหลายดังกล่าวจะถูกละเลย ถูกผสมกลมกลืน หรือได้รับการส่งเสริมให้เป็นที่ปรากฏเด่นชัดในสังคมหรือไม่และอย่างไร กรณีของประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน แม้จะประกอบด้วยหลากหลายกลุ่มวัฒนธรรม และชาติพันธุ์ (ดูตัวอย่างในงานเขียนของจิตร, 2535; จิตรสิงห์, 2554; บุญช่วย,2547; องค์, 2553) แต่ในยุคของการสร้างชาติที่เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 มาจนถึงสิ้นยุคสงครามเย็น ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคมไทยได้ถูกลดความสำคัญลงไป ดำวยอิทธิพลของนโยบายชาตินิยมของรัฐชาติไทยที่เน้นการสร้างวัฒนธรรมและเอกลักษณ์หนึ่งเดียวที่เป็น “วัฒนธรรมแห่งชาติ”เป็นหลัก (สายชล, 2551) จนทำให้วัฒนธรรมท้องถิ่นถูกผสมกลมกลืนและลดทอนความสำคัญลงไป แม้ในยุคที่รัฐบาลส่งเสริมการท่องเที่ยว วัฒนธรรมท้องถิ่น และอัตลักษณของกลุ่มชาติพันธุ์จะได้รับการส่งเสริมให้ปรากฏต่อสาธารณะมากขึ้น แต่ก็เป็นเพียงเพื่อการแสดงและการค้ามากกว่าการให้สิทธิและเคารพในความเสมอภาคของกลุ่มวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ในประเทศ ยิ่งในยุคที่มีการเปิดเผยตัวตนของคนหลากหลายทางเพศและการอพยพเข้ามาของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านด้วยแล้ว กลุ่มวัฒนธรรมดังกล่าวแทบจะไม่มีพื้นที่ทางสังคมในประเทศไทยเลย ดังจะสังเกตได้จากการที่ความรู้สึกเกลียดชังและไม่ไว้วางใจคนเหล่านี้ยังมีให้เห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่ในระดับรัฐบาลก็ยังไม่ได้มีความชัดเจนกับการส่งเสริมนโยบายพหุวัฒนธรรมนิยม

 

ในระดับนานาชาติก็เช่นเดียวกัน ความแตกต่างทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ได้ถูกนำมาใช้ในเชิงดูถูกเหยียดหยามตั้งแต่ยุคการล่าอาณานิคมที่คนผิวขาวเจ้าอาณานิคมมีเหนือกว่ากลุ่มวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ภายใต้การปกครองดังกรณีของชนพื้นเมืองในทวีปออสเตรเลีย อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และอาฟริกา เป็นต้น ปัญหาการดูถูกทางวัฒนธรรมและเหยียดหยามเชิงชาติพันธุ์ดังกล่าวยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในยุคสงครามโลกครั้งที่สองที่ฮิตเลอร์ได้ทำการฆ่าลางเผ่าพันธุ์ชาวยิวเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ภายหลังจากที่องค์การสหประชาชาติได้รับการจัดตั้งขึ้น ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่เน้นการให้ความเคารพในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์จึงได้รับการผลักดันให้เป็นหนึ่งในแผนงานหลัก นอกจากนั้นแล้ว ในยุคโลกาภิวัตน์ที่มีการเคลื่อนย้ายของผู้คน โดยเฉพาะแรงงานอพยพและผู้ลี้ภัยสงคราม ข้ามเส้นแบ่งพรมแดนรัฐชาติ (ทั้งถูกและผิดกฎหมาย) ยังนำมาซึ่งประเด็นการเรียกร้องให้รัฐบาลที่ประเทศปลายทางรับรองสิทธิทางวัฒนธรรมและสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ ของพวกเขาด้วย ดังนั้น รัฐบาลในประเทศอย่างแคนาดา ออสเตรเลีย อเมริกา และประเทศอื่นๆ ในยุโรป จึงกำหนดให้มีนโยบายที่เน้นความเป็นพหุวัฒนธรรมนิยมตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา แต่เนื่องด้วยบริบททางประวัติศาสตร์การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ฉะนั้นพหุวัฒนธรรมนิยมในแต่ละประเทศจึงประสบความสำเร็จในระดับที่แตกต่างกันออกไปด้วย ในที่นี้ ผู้เขยนจึงขอนำเสนอประเด็นความหมายของพหุวัฒนธรรมนิยม กระบวนทัศน์ในการศึกษาพหุวัฒนธรรมนิยมในทางสังคมศาสตร์ และตัวอย่างของพหุวัฒนธรรมนิยมในประเทศต่างๆ

Published: 2019-02-17

Academic Articles