Vol. 19 No. 2 (2007): ศาสนา ชาติพันธุ์ และการพัฒนาระดับภูมิภาคในเขตลุ่มน้ำโขง
วารสารสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฉบับนี้ก็เช่นกัน ที่นอกจากจะปฏิเสธไม่ได้ถึงความสำคัญของ “ลุ่มน้ำโขงศึกษา”ยังเล็งเห็นว่า ท่ามกลางบรรยากาศทั้งในและนอกวงวิชาการที่ผู้คนในสังคมไทยให้ความสนใจไถ่ถามและติดตามเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเขตลุ่มน้ำโขง การเปิดพื้นที่ให้ได้มีการสำรวจทบทวนสืบสวนอย่างวิพากษ์วิจารณ์ ตลอดจนเสนอทรรศนะเชิงวิชาการจากงานศึกษาวิจัยเชิงประจักษ์ เพื่อร่วมกระตุ้นและจุดประกายให้เกิดความสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง วัฒนธรรม และความเป็นมาของผู้คน ชุมชน ชนชาติต่างๆ รวมจนถึงปัญหาที่อุบัติขึ้น หรือเป็นผลมาจากการพัฒนาระดับภูมิภาค นับว่าเป็นโอกาสสำคัญที่วารสารสังคมศาสตร์จะได้แสดงพันธกิจที่พึงมีต่อสังคม บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ในวารสารสังคมศาสตร์ฉบับนี้ เขียนขึ้นต่างกรรมต่างวาระ ต่างที่ต่างทาง อีกทั้งผู้เขียนแต่ละท่านต่างตั้งประเด็นปัญหาและมีมุมมองต่อประเด็นหัวข้อของตนอย่างเป็นเอกเทศ เนื้อหาของบทความเหล่านี้ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องราวของ ชาวมุสลิมยูนนาน อาข่าในเมืองเชียงใหม่ รัฐบาลทหารพม่า ชาวบ้านในชุมชนสองฝั่งโขง แม่ค้าชาวอิสานและนักดนตรีลื้อในสิบสองปันนา หากมองแบบแยกส่วน ดูเหมือนว่าบทความแต่ละเรื่องจะไม่สอดคล้องหรือเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด ทว่าเมื่อพยายามปะติดปะต่อเรื่องราวเหล่านั้นเข้าด้วยกัน แล้วลองอ่านใหม่ภายใต้บริบทของการพัฒนาระดับภูมิภาคดังที่ผมได้พยายามวาดภาพให้เห็นมาตั้งแต่ต้น จะเห็นว่าเรื่องราวต่างๆ ที่นำาเสนอผ่านบทความเหล่านี้ คือภาพบางส่วนของความแตกต่างหลากหลายที่ดำรงคงอยู่คู่กับภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมาอย่างยาวนาน เป็นภาพบางส่วนของประวัติศาสตร์ ศาสนา และชาติพันธุ์ ที่มักถูกมองข้าม ผ่านเลย หรือแม้แต่ “ทำเป็นไม่เห็น” เช่น กรณีของอาข่าในเมืองเชียงใหม่ (ในบทความของไพโรจน์ คงทวีศักดิ์) หรือการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของชาวมุสลิมยูนนานในภาคเหนือของไทย ภายใต้บริบทประวัติศาสตร์ลุ่มน้ำโขงตอนบนนับจากกลางศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา (ในบทความของสุชาติ เศรษฐมาลินี) และอีกทั้งยังเป็นภาพบางส่วนของการเคลื่อนไหวโต้ตอบทั้งในระดับรัฐ (ในบทความของ ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร) และการต่อสู้ดิ้นรนของผู้คนระดับชุมชนท้องถิ่น (ในบทความของ ยศ สันตสมบัติ) ต่อการเคลื่อนตัวของทุนโลกาภิวัตน์ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงยุคหลังสังคมนิยม เป็นภาพบางส่วนของการเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลมาจากการเกิดขึ้นของ “ระบอบเศรษฐกิจใหม่” (ในบทความของ พฤกษ์ เถาถวิล) และเป็นภาพบางส่วนของการเมืองวัฒนธรรมของชนชาติส่วนน้อยในยูนนานที่ก่อตัวขึ้นมาได้ก็ด้วยเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์และการพัฒนาระดับภูมิภาค (ในบทความของ วสันต์ ปัญญาแก้ว) ที่เชื่อแน่ว่ายังไม่เป็นที่รับรู้กันในวงกว้างหรือถกเถียงกันอย่างสร้างสรรค์จริงจัง ภาพบางส่วน (ข้างต้น) ที่ปรากฏอยู่ในวารสารสังคมศาสตร์ฉบับนี้ คงไม่อาจแก้กระหายความสนใจใคร่รู้ที่เราท่านมีเกี่ยวกับเรื่องราวของ “แม่น้ำโขง” ทว่าก็น่าจะเพียงพอที่จะกระตุ้นต่อเติมให้เกิดการถกเถียง ค้นคว้าศึกษาหาความรู้ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชะตากรรมของผู้คนชุมชน ชนชาติต่างๆ ที่อาศัยใช้ชีวิตพัวพันอยู่กับแม่น้ำสายนี้