Vol. 35 No. 1 (2023): Navigating Through Uncertainties: Dwelling in the Transition of Thai Society
ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ถือเป็นปมปัญหาสำคัญทางปรัชญาที่สะท้อนเงื่อนไขของภาวะความเป็นมนุษย์ อันได้แก่ การผิดพลาดได้ ขีดจำกัดในการรู้อดีตและอนาคต และการตัดสินใจและการกระทำการด้วยความบังเอิญของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่มิได้ตั้งใจ ในทางภววิทยา มนุษย์จึงมิได้ดำรงอยู่อย่างสมบูรณ์หรือปราศจากข้อจำกัด ในเชิงญาณทัศน์ ความไม่แน่นอนของความรู้ หรือข้อจำกัดของความสามารถในการรับรู้ ถูกถือให้เป็นหลักการพื้นฐานในการสร้างโจทย์คำถาม เพื่อนำไปสู่แสวงหาความรู้ที่แน่นอน หรือหนทางในการกล่าวอ้างถึงความถูกต้องของความรู้ ตลอดประวัติศาสตร์ของปรัชญาตะวันตก การพยายามสร้างเครื่องมือทางปัญญาในการเข้าถึงความแน่นอนทางความรู้ ดำเนินมาในแนวทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางนอกเหตุผล (non-raltional) เช่น ศรัทธาและความเชื่อ ในการเอาชนะข้อจำกัดของความผิดพลาดในการไปสู่ความรู้ที่ถูกต้องของปรัชญาศาสนา หรือเหตุผลในระหว่างกลาง (in-betwen rationales) เช่น ความเชื่อใจ (trust) และสหัชญาณ (intution) อันเป็นประสบการณ์เชิงอัตวิสัยที่ให้ความสำคัญต่อการให้ความหมายต่อเหตุผลหลายประเภท ผ่านการวิเคราะห์ภาษาของปรัชญาสายปรากกฎการณ์นิยม (Schulz and Zinn 2023)
ความไม่แน่นอนนั้น อาจพิจารณาผ่านความแตกต่างระหว่างความไม่แน่นอนเชิงอัตวิสัย และความไม่แน่นอนเชิงภววิสัย (Wakeham 2015) ในเชิงอัตวิสัยนั้น ปัจเจกบุคคลมีประสบการณ์ต่อความไม่แน่นอนบนฐานความรู้ที่บุคคลมีต่อเรื่องหนึ่ง ๆ ประสบการณ์ต่อเรื่องราวบางอย่างอาจท้าทายความเชื่อที่บุคคลนั้น ๆ มี และนำมาซึ่งการตั้งข้อสงสัยต่อความเชื่อที่มีอยู่ ประสบการณ์เชิงปรากฏการณ์นิยมเกี่ยวกับความไม่แน่นอนนี้เป็นไปได้ทั้งในลักษณะของการรับรู้ (cognitive) และในแง่อารมณ์ความรู้สึก (emotional) ประสบการณ์เกี่ยวกับความไม่แน่นอนของบุคคลจึงมีอิทธิพลต่อการกระทำการทางสังคมของผู้คน ในขณะเดียวกัน บริบททางสังคมก็มีอิทธิพลต่อการหล่อหลอมประสบการณ์เชิงการรับรู้และเชิงอารมณ์ของความไม่แน่นอนด้วยเช่นกัน (อ้างแล้ว, 716) ในมิติของภววิสัยนั้น ความไม่แน่นอนไม่ได้มาจากประสบการณ์ของผู้คน หากแต่มาจากโลกที่มนุษย์ดำรงอยู่ ที่มนุษย์มิได้มีความรู้เกี่ยวกับโลกดังกล่าวอย่างสมบูรณ์ ความไม่แน่นอนในมิติภววิสัย ยังมีนัยที่ต่างกันระหว่างญาณทัศน์และ ภววิทยา ความไม่แน่นอนในเชิงญาณทัศน์ หมายถึง สิ่งที่ยังมิใช่ความรู้ แต่สามารถลดความไม่แน่นอนที่ไม่อาจรู้ได้ลงด้วยการแสวงหาข้อมูลและความรู้เพิ่มเติม ในขณะที่ความไม่แน่นอนในเชิงภววิทยา หมายถึงสิ่งที่ไม่อาจรู้ได้อันเนื่องมาจากความไม่สามารถที่จะรู้ได้เลย ซึ่งอาจเนื่องมาจากความซับซ้อนของปัญหาหรือสถานการณ์ หรืออุปสรรคโดยธรรมชาติของเวลาที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงความรู้ในทางประวัติศาสตร์ได้