ศึกษาคำเรียกชื่อผักพื้นบ้านในภาษาไทใหญ่ บ้านเมืองปอน ตำบลเมืองปอน อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน

Main Article Content

สุณัฐชา กัณทา
จิราภรณ์ น้อยฉิ่ม
ขนิษฐา ใจมโน

บทคัดย่อ

การศึกษาคำเรียกชื่อผักพื้นบ้านภาษาไทใหญ่  บ้านเมืองปอน  ตำบลเมืองปอน อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะไวยากรณ์คําเรียกชื่อผักพื้นบ้านในภาษาไทใหญ่  บ้านเมืองปอน ตำบลเมืองปอน อำเภอขุนยวม  จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยทำการสำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลชื่อผักพื้นบ้านระหว่าง เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 พบผักพื้นบ้านทั้งสิ้น  115 ชนิด นำมาวิเคราะห์ลักษณะไวยากรณ์ของคำเรียกชื่อผักพื้นบ้านในภาษาไทใหญ่  ผลการวิจัยด้านระบบไวยากรณ์คําเรียกชื่อผักพื้นบ้าน พบโครงสร้าง 4 ส่วน ได้แก่ (คําบ่งกลุ่มพืช) – (หน่วยคําบ่งกลุ่มพืช) – แก่นชื่อ  – (คําขยายพืช)  แก่นชื่อเป็นส่วนที่ต้องปรากฏเสมอเพื่อจําแนกชนิดพืช  ส่วนคําบ่งกลุ่มพืช  หน่วยคําบ่งกลุ่มพืช  และ  คําขยายพืช  จะปรากฏร่วมกับแก่นชื่อพืชหรือไม่ก็ได้  แก่นชื่อพืชมีโครงสร้างคําเป็นได้ทั้งคํามูลฐาน คําประสม คําบ่งกลุ่มพืชเป็นหน่วยคําอิสระ ใช้บ่งว่าผักนั้นมีลักษณะเด่นด้านใด ซึ่งในงานวิจัยนี้พบ 3 ด้าน ได้แก่ คําบ่งกลุ่มพืชทั่วไป คําบ่งกลุ่มส่วนประกอบพืช และคําบ่งกลุ่มหน้าที่พืช  สามารถปรากฏพร้อมกันได้ทั้งสามกลุ่ม และในกรณีที่ปรากฏมากกว่าหนึ่งกลุ่มจะมีการเรียงคำกันตามลําดับ หน่วยคําบ่งกลุ่มพืช จะแตกต่างจากคําบ่งกลุ่มพืชตรงที่หน่วยคําบ่งกลุ่มพืช  พบ 2 กลุ่ม ได้แก่ หน่วยคําบ่งกลุ่มผล และหน่วยคําบ่งกลุ่มจํานวน


นอกจากนี้ยังพบวัฒนธรรมการบริโภคผักพื้นบ้านแต่ละชนิดของชาวไทใหญ่ แบ่งออกเป็นผักที่รับประทาน ดอก 14 ชนิด หัว(ราก)  13 ชนิด  ยอด 33 ชนิด  ผล 30 ชนิด ต้น 11  ชนิด เมล็ด 2 ชนิด ต้น – ยอด 7 ชนิด ผล – ยอด 4 ชนิด ต้น – ดอก 1 ชนิด โดยพบว่าส่วนใหญ่ชาวไทใหญ่นิยมรับประทานผักพื้นบ้านในลักษณะผักสด ผักลวก และผักต้ม  ใช้รับประทานกับน้ำพริกประเภทต่างๆ ได้แก่  น้ำพริกปลาร้า น้ำพริกส้ม น้ำพริกหนอก น้ำพริกอ่อง น้ำพริกอุ๊บ  ผักพื้นบ้านแต่ละชนิดนอกจากนำไปรับประทานกับน้ำพริก อีกทั้งนิยมทำเป็นอาหารตามตำรับอาหารไทใหญ่ ได้แก่ อุ๊บ จอ ซ่า หุง เป็นต้น ซึ่งเป็นตำรับอาหารจากผักพื้นบ้านที่ยังคงได้รับความนิยมในการรับประทานในชาวไทใหญ่และยังนิยมใช้เป็นอาหารในพิธีกรรมต่างๆอีกด้วย แต่ประเภท  ผัด  จะได้รับอิทธิพลมาจากตำรับอาหารไทยกลางเป็นหลัก

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

ปิยวรรณ วินัจชัยนันท์. (2536). พฤษศาสตร์พื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยงในเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ประสิทธิ์ คุณุรัตน์ และคณะ. (2545). การศึกษาสภาพแวดล้อมและการใช้ประโยชน์ของป่าบุ่งป่าทามบริเวณลุ่มแม่น้ำมูลตอนกลาง. สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

ไพฑูรย์เจนเจริญพันธ์. (2546). เทคนิคในการสร้างธนาคารอาหาร (Food Bank) ของชุมชน. สำนักงานป่าไม้ จังหวัดอุดรธานี, อุดรธานี.

ยุทยา อยู่เย็น. (2551). ผักพื้นบ้านชาวไทยทรงดำบริเวณตำบลดอนมะเกลือ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี. วารสารมหาวิทยาลัยสวนดุสิต. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. ฉบับที่ 2: 99 – 112.

ราชบัณฑิตสถาน. (2546). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. (729). กรุงเทพฯ: นามมีบุคส์พับลิเคชั้นส์.

ลูกหลานไพศาล (นามแฝง). (2561). ประวัติเมืองปอน. (ม.ป.ท.): (ม.ป.พ.).

อัญชลี สิงห์น้อย วงศ์วัฒนา และ สุพัตรา จิรนันทนาภรณ์. (2556). การศึกษาคําเรียกชื่อพืชในกลุ่มภาษาชาติพันธุ์ไทในเขตภาคเหนือ. วารสารสาขาวิชาภาษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร. ฉบับที่ 21 : 72 – 92.