จริยธรรมการตีพิมพ์
จริยธรรมในการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการ (Publication Ethics)
เพื่อให้การสื่อสารทางวิชาการเป็นไปอย่างถูกต้อง มีคุณภาพ โปร่งใส และสอดคล้องกับมาตรฐานการตีพิมพ์นานาชาติ วารสารนาคบุตรปริทรรศน์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช จึงกำหนดบทบาทหน้าที่ให้แก่ บรรณาธิการวารสาร (Editor) ผู้เขียน (Author) และผู้ประเมินบทความ (Reviewer) ได้ศึกษาและปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ตลอดจนผู้อ่าน แวดวงวิชาการ และสังคมโลกโดยรวม ดังนี้
บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการวารสาร (Duties of Editors)
1. บรรณาธิการต้องรักษาความลับของข้อมูลผู้เขียนและผู้ประเมินบทความ ไม่เปิดเผยข้อมูลแก่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องในระหว่างกระบวนการประเมิน
2. บรรณาธิการต้องมีการตรวจสอบการคัดลอกผลงานเพื่อป้องกันการคัดลอกผลงานของผู้อื่น
3. บรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียน ผู้ประเมินบทความ และทีมบริหาร
4. บรรณาธิการต้องไม่ตีพิมพ์บทความที่เคยตีพิมพ์ที่อื่นมาแล้ว และต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าบทความที่ส่งมาตีพิมพ์เป็นผลงานใหม่ กรณีที่มีการตรวจพบภายหลังว่ามีการตีพิมพ์ซ้ำ หรือมีข้อมูลการวิจัยซ้ำซ้อนโดยไม่ได้รับอนุญาต และ/หรือไม่มีการอ้างอิงอย่างถูกต้อง บรรณาธิการต้องดำเนินการต่อข้อค้นพบดังกล่าวอย่างเร่งด่วน
5. บรรณาธิการต้องมีการตรวจสอบบทความในด้านการคัดลอกผลงานผู้อื่น (Plagiarism) อย่างจริงจัง เช่น การละเมิดหรือคัดลอกผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง ทางซึ่งวารสารได้กำหนดความซ้ำของผลงาน ด้วยโปรแกรม CopyCatch เว็บ Thaijo โดยกำหนดค่าไว้ในระดับ ไม่เกิน 25% เป็นต้น
6. บรรณาธิการต้องกำกับดูแลการเก็บค่าธรรมเนียมการตีพิมพ์อย่างโปร่งใส โดยประกาศกระบวนการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการ ระบุราคา และเงื่อนไขอย่างชัดเจน
7. บรรณาธิการต้องเผยแพร่บทความตามนโยบายที่กำหนดไว้ เช่น จำนวนฉบับที่ตีพิมพ์ต่อปี ต้องไม่เกินจากที่กำหนดในนโยบายของวารสาร
8. บรรณาธิการต้องตรวจสอบคุณภาพบทความอย่างเคร่งครัด ก่อนการตีพิมพ์ เพื่อให้มั่นใจว่าบทความมีคุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาการ
9. บรรณาธิการต้องไม่ตีพิมพ์เผยแพร่บทความของตนเองเป็นจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญในวารสารตนเอง
10. บรรณาธิการต้องไม่มีกระบวนการเพิ่มการอ้างอิงให้กับบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารตนเองที่ไม่เหมาะสม
บทบาทและหน้าที่ของผู้เขียน (Duties of Authors)
1. ผู้เขียนต้องรับรองว่าผลงานที่ส่งมาตีพิมพ์เป็นผลงานที่ตนเองสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ ไม่ได้คัดลอกหรือลอกเลียนผลงานของผู้อื่น หากมีการอ้างอิงผลงานของผู้อื่น ต้องให้เครดิตอย่างถูกต้องและชัดเจน
2. ผู้เขียนต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงแหล่งทุนหรือการสนับสนุนทางการเงินที่ได้รับในการทำวิจัย
3. ผู้เขียนต้องไม่ส่งบทความเดียวกันไปยังหลายวารสารพร้อมกัน หรือตีพิมพ์บทความที่เคยตีพิมพ์มาแล้วในวารสารอื่น หากผลงานมีความเกี่ยวข้องกับบทความที่เคยตีพิมพ์ ต้องมีการอ้างอิงและให้ข้อมูลที่ชัดเจน
4. ผู้เขียนต้องให้เครดิตแก่ผู้ร่วมงานทุกคนที่มีส่วนร่วมในการทำวิจัยและเขียนบทความ โดยต้องมีการระบุชื่อผู้ร่วมงานแต่ละคนอย่างถูกต้อง
5. ผู้เขียนต้องรับรองว่าข้อมูลและผลการวิจัยที่นำเสนอในบทความเป็นความจริงและถูกต้อง หากพบข้อผิดพลาดในภายหลัง ต้องมีการแก้ไขหรือถอนบทความอย่างเหมาะสม
6. ผู้เขียนต้องปฏิบัติตามหลักการจริยธรรมในการทำวิจัย โดยต้องปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการทำวิจัย
7. ผู้เขียนต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วนและชัดเจนในบทความ รวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการวิจัย ผลการวิจัย และการวิเคราะห์ข้อมูล โดยไม่ปกปิดข้อมูลที่สำคัญหรือบิดเบือนผลการวิจัย
8. ผู้เขียนต้องเคารพสิทธิ์และความเป็นส่วนตัวของผู้เข้าร่วมการวิจัย โดยต้องได้รับความยินยอมจากผู้เข้าร่วมการวิจัยก่อนการเก็บข้อมูล
บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ (Duties of Reviewers)
1. ผู้ประเมินบทความต้องรักษาความลับของบทความที่ได้รับการส่งมาตรวจสอบ ไม่เปิดเผยข้อมูลหรือเนื้อหาของบทความแก่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง และต้องไม่ใช้ข้อมูลที่ได้รับจากบทความในการทำวิจัยหรือเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เขียน
2. ผู้ประเมินบทความจะต้องศึกษาข้อมูลรูปแบบการประเมินของวารสาร เพื่อให้สามารถประเมินได้ถูกต้องตามรูปแบบที่วารสารกำหนด
3. ผู้ประเมินบทความต้องให้ข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์แก่ผู้เขียน เพื่อช่วยปรับปรุงบทความให้มีคุณภาพสูงขึ้น รวมถึงต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจนและครบถ้วนในรายงานการประเมิน เพื่อให้ผู้เขียนสามารถปรับปรุงบทความได้ตามข้อเสนอแนะ
4. ผู้ประเมินบทความต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียนหรือเนื้อหาของบทความ หากมีผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจมีผลต่อการประเมิน ต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบและไม่รับประเมินบทความนั้น
5. ผู้ประเมินบทความต้องประเมินบทความอย่างยุติธรรมและไม่ลำเอียง โดยต้องพิจารณาบทความตามคุณภาพและเนื้อหาทางวิชาการเท่านั้น
6. ผู้ประเมินบทความจะต้องมีความรับผิดชอบ ไม่ทิ้งงาน ต้องประเมินและส่งกลับตามเวลาที่กำหนด ไม่ควรส่งล่าช้าโดยไม่มีเหตุอันควร
7. ผู้ประเมินบทความต้องปฏิบัติตามหลักการจริยธรรมในการประเมินบทความ เช่น การไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เข้าร่วมการวิจัย และต้องตรวจสอบว่าบทความมีการปฏิบัติตามหลักการจริยธรรมในการทำวิจัยหรือไม่