การออกกลางคันและการย้ายถิ่นเข้าสู่ความเป็นแรงงาน: กรณีศึกษาจากชุมชนแห่งผู้รับเหมาตกแต่งภายใน จังหวัดสุรินทร์

Main Article Content

นิธิศ ธรรมแสงอดิภา
อเนกพล เกื้อมา

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสาเหตุในการออกกลางคันและการย้ายถิ่นเข้าสู่ความเป็นแรงงาน และกระบวนการในการย้ายถิ่นเพื่อไปทำงาน ภายใต้บริบทความเป็นชุมชนแห่งผู้รับเหมาตกแต่งภายใน จังหวัดสุรินทร์ ผู้ให้ข้อมูลในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ แรงงานช่างเฟอร์นิเจอร์ที่ออกกลางคันในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจำนวน 9 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) ร่วมกับการสังเกตการณ์ (Observation) ที่บ้านในชุมชนต้นทาง ที่ทำงาน และที่พักอาศัยในพื้นที่ปลายทาง


ผลการศึกษาสาเหตุในการออกกลางคันของกรณีศึกษา พบว่า มาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1) ฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว ที่กรณีศึกษารับรู้ว่าตนเป็นภาระในการส่งเสีย 2) ความรุนแรงในสถานศึกษา ทั้งจากครูและเพื่อนนักเรียน และ 3) ความไม่ดึงดูดใจของการเรียนหนังสือ โดยมีทั้งผู้ที่ลาออกเพราะไม่อยากเรียนหนังสือเพียงอย่างเดียว และผู้ที่ลาออกเพราะอยากเรียนหนังสือและตั้งใจจะไปทำงาน เมื่อกรณีศึกษาเหล่านี้ลาออกจากการศึกษากลางคันแล้วเข้าสู่กระบวนการย้ายถิ่น โดยมีขั้นตอนต่างๆ ได้แก่ 1) การเรียนรู้พฤติกรรมการย้ายถิ่นจากเครือข่ายการย้ายถิ่นที่เป็นกลุ่มเพื่อน ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนบ้านในชุมชน 2) การเกิดปัจจัยที่ทำให้ตัดสินใจย้ายถิ่น ประกอบด้วย ปัจจัยผลักดัน ได้แก่ ฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว การมีความนับถือตนเองเพิ่มขึ้น และวัฒนธรรมแห่งการย้ายถิ่นที่เป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน ส่วนปัจจัยดึงดูด ได้แก่ การถูกชักชวนและอำนวยความสะดวกโดยเครือข่ายการย้ายถิ่น และโอกาสในการออกไปเรียนรู้ชีวิตการทำงานและใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ และ 3) การย้ายถิ่นและการปรับตัวในการปรับตัวเข้าสู่ความเป็นแรงงาน พบว่า กรณีศึกษาไม่มีความลำบากในการปรับตัวเท่าใดนัก เพราะได้รับการอำนวยความสะดวกในเรื่องการเดินทาง ที่พักอาศัย และงานจากเครือข่ายการย้ายถิ่น แต่มีกรณีศึกษาบางคนที่พบปัญหาจากพฤติกรรมไม่พึงประสงค์จากเพื่อนร่วมงาน

Article Details

บท
บทความวิจัย (Research Article)