นโยบายน้ำในช่วงเปลี่ยนผ่าน
Main Article Content
บทคัดย่อ
นโยบายน้ำของชาติกำลังพัฒนา ส่วนใหญ่ประกอบด้วยแผนงานที่กำหนดเป้าหมายเพื่อการแก้ไขปัญหาหรือสนองตอบโจทย์ระยะสั้น มีการออกแบบโครงสร้างองค์กรการบริหารจัดการน้ำที่มีวัตถุประสงค์คลุมเครือ ขาดความชัดเจน นอกจากนั้น ฐานคิดสำคัญอยู่ภายใต้กรอบแนวคิดการพัฒนาที่มุ่งสร้างความเจริญเติบโต และมุ่งเน้นประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำเชิงปริมาณ เช่น การพัฒนาแหล่งกักเก็บ การรวบรวม และส่งกระจายน้ำ โดยมุ่งหวังผลการพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่เป้าหมาย
สำหรับประเทศไทย นโยบายน้ำภาคปฏิบัติที่เชื่อมโยงกับแผนพัฒนาประเทศที่ผ่านมา ซึ่งในระยะเริ่มต้นเป็นการเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำโดยก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เขื่อน ฝาย เป็นต้น เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลัก ต่อมาจึงมีการเพิ่มแนวคิดด้านคุณภาพของทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม แต่เนื่องจากสภาพการณ์ปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงมีความซับซ้อนมากขึ้น มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปัญหาน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้ เนื่องจากการเพิ่มจำนวนประชากรและรูปแบบการผลิตเกษตรที่เข้มข้นมากขึ้น รวมถึงผลจากการขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัยในเขตเมืองที่รุกตัวเข้าไปเบียดกันพื้นที่ผลิตเกษตร ส่งผลให้การแบ่งสัดส่วนน้ำของภาคเกษตรเริ่มลดลง ซึ่งหน้าที่ของกรมชลประทานในฐานะหน่วยงานที่เดิมทำหน้าที่จัดหาน้ำให้กับภาคเกษตรเป็นหลักเริ่มปรับเปลี่ยนสู่การทำหน้าที่
แบ่งสรรน้ำ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดการน้ำไม่มีประสบการณ์ด้านการจัดสรรน้ำระหว่างกลุ่มผู้มีส่วนได้-ส่วนเสียรายใหม่ ทั้งที่เป็นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและกลุ่มผู้บริโภคในเขตเมือง ที่สำคัญนโยบายการจัดการน้ำของไทย ยังขาดการระบุแนวทางการจัดสรรน้ำที่จะช่วยเป็นกรอบแนวทางปฏิบัติให้กับหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดลำดับความสำคัญให้กับกลุ่มผู้ใช้น้ำที่มีความต้องการใช้น้ำที่แตกต่างกันทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพและเหลื่อมช่วงเวลากันด้วย การจัดสรรน้ำเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรมจึงยังเป็นประเด็นสำคัญในการจัดการน้ำของประเทศไทย
Article Details
1) บทความนี้เป็นลิขสิทธิ์ของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ความคิดเห็นและเนื้อหาเป็นของผู้แต่ง
2) ทัศนะและข้อคิดเห็นในวารสารวิจัยสังคมเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน มิใช่ทัศนะและข้อเขียนของกองบรรณาธิการฯ หรือสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ประสงค์จะนำข้อความใดๆ ไปผลิต / เผยแพร่ซ้ำต้องได้รับอนุญาตจากผู้เขียนและกองบรรณาธิการวารสารวิจัยสังคม ว่าด้วยกฎหมายลิขสิทธิ์