ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแบบขูดรีดผลประโยชน์ระหว่างผู้อยู่อาศัยในชุมชนผู้มีรายได้น้อยริมคลองลาดพร้าวและคนเมือง

Main Article Content

อมต จันทรังษี

บทคัดย่อ

การละเลยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ชาวชุมชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งถูกเรียกว่าสลัมมีต่อเมืองส่งผลให้รัฐบาลมองว่าชุมชนริมคลองลาดพร้าวเป็นส่วนเกินของเมือง นโยบายการไล่รื้อและย้ายคนในชุมชนจึงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บทความชิ้นนี้ศึกษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ชาวชุมชนผู้มีรายได้น้อยมีต่อคนเมืองกรุงเทพมหานครด้วย มุมมองทางทฤษฎีมาร์กซิสต์ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกและสังเกตการณ์ผู้อยู่อาศัยในชุมชนผู้มีรายได้น้อยริมคลองลาดพร้าว 7 ชุมชน จํานวน 46 คน


ผลการศึกษาพบว่า ความสัมพันธ์ทางการผลิตที่เกิดขึ้นระหว่าง คนเมืองและชาวชุมชนริมคลองพบในความสัมพันธ์ทางสังคม 3 รูปแบบ คือ นายจ้างและลูกจ้าง คนเมืองและผู้ให้บริการเมือง และลูกค้าและแม่ค้า ความสัมพันธ์ทั้ง 3 คู่เป็นความสัมพันธ์แบบขูดรีดผลประโยชน์ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่ชาวชุมชนใช้แรงงานของตนเองในการผลิตสินค้าและให้บริการเมืองมากกว่าค่าตอบแทนที่ได้รับมูลค่าส่วนเกินนี้ทำให้นายจ้างได้ผลกําไรและธุรกิจเติบโต คนเมืองได้บริการเมืองและค่าบริการโดยสารราคาถูก ลูกค้าคนเมืองมีค่าครองชีพต่ำจากอาหารและบริการราคาประหยัด ชาวชุมชนริมคลองลาดพร้าวจึงเป็นกลุ่มคนที่สร้างพลังการผลิตให้เศรษฐกิจและสังคมเมือง การดำรงอยู่ของชุมชนจึงเป็นสิ่งที่รัฐต้องคํานึงถึงในการออกนโยบายปรับปรุงเมือง

Article Details

บท
บทความวิจัย (Research Article)