สลัมในย่างกุ้ง: การกลายเป็นเมือง และความเปลี่ยนแปลง
Main Article Content
บทคัดย่อ
ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา การขยายตัวของเมืองในเมียนมาได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ทว่าการขาดการวางแผนนโยบายที่อยู่อาศัยที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้มีรายได้น้อยทำให้เกิดการขยายตัวของชุมชนแออัดหรือสลัมในหลายเมืองของประเทศ โดยเฉพาะในย่างกุ้งซึ่งเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางของเศรษฐกิจ
บทความชิ้นนี้เป็นความพยายามในการศึกษาและอธิบายการขยายตัวของสลัมในเมียนมาที่สัมพันธ์กับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ด้วยการใช้ข้อมูลจากการสำรวจสำมะโนประชากรและที่อยู่อาศัยของเมียนมา ค.ศ. 2014 และการสำรวจครัวเรือนและประชากรสลัมในเขตหล่ายทายาของ Bendar Social Development Group ในปี ค.ศ. 2018 ที่ครอบคลุมครัวเรือน 467 ครัวเรือนจาก 10 ชุมชนในนิคมอุตสาหกรรมหล่ายทายาในเมืองย่างกุ้ง การวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสาเหตุสำคัญของการขยายตัวของชุมชนแออัดในเมืองย่างกุ้งมาจากปัจจัยสามประการที่สัมพันธ์กัน ประการแรก พายุไซโคลนนาร์กีส ในปี ค.ศ. 2008 และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประการที่สอง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างเขตเมืองและชนบท และประการที่สาม การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในภาคเกษตรกรรม สาเหตุเหล่านี้เกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญกับการว่างงาน การสูญเสียที่ดิน และการอพยพของคนในชนบทเข้ามาในเมืองใหญ่เพื่อแสวงหาโอกาสในการดำรงชีวิตและอาชีพที่ดีขึ้น
บทความชิ้นนี้พยายามชี้ให้เห็นว่าสภาพความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของครัวเรือนในสลัมอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐานการดำรงชีวิตทั่วไป เนื่องจากครัวเรือนเหล่านี้ต้องอยู่กับสภาวะรายได้ที่ต่ำแต่ค่าครองชีพสูง ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับพวกเขาในการปรับปรุงคุณภาพชีวิต นอกจากนี้ นโยบายสวัสดิการและที่อยู่อาศัยของรัฐบาลเมียนมาในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถเสริมสร้างความมั่นคง การปลอดภัยจากการถูกไล่รื้อและสร้างเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคมที่ครอบคลุมได้
Article Details
1) บทความนี้เป็นลิขสิทธิ์ของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ความคิดเห็นและเนื้อหาเป็นของผู้แต่ง
2) ทัศนะและข้อคิดเห็นในวารสารวิจัยสังคมเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน มิใช่ทัศนะและข้อเขียนของกองบรรณาธิการฯ หรือสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ประสงค์จะนำข้อความใดๆ ไปผลิต / เผยแพร่ซ้ำต้องได้รับอนุญาตจากผู้เขียนและกองบรรณาธิการวารสารวิจัยสังคม ว่าด้วยกฎหมายลิขสิทธิ์