บทบรรณาธิการ

Main Article Content

สุรางค์รัตน์ จำเนียรพล

บทคัดย่อ

วารสารวิจัยสังคม ปีที่ 43 ฉบับที่ 2 ออกมาในท่ามกลางบริบทการแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางและรุนแรงของโรคโควิด-19 ทั้งในโลก และในประเทศไทย ในประเทศไทยพบเจอการระบาดใน 3 ระลอกสำคัญคือ ระลอกเดือนเมษายน เดือนตุลาคม และเดือนธันวาคม ในช่วงที่พีคที่สุด มีผู้ติดเชื้อสะสมตลอดปี พ.ศ. 2563 รวม 6,884 ราย และเพื่อการป้องกันการแพร่ระบาด รัฐบาลใช้พระราชกำหนดการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ประกาศปิดสถานที่เสี่ยง และประกาศห้ามออกนอกเคหะสถานในเวลากลางคืน (เคอร์ฟิว) ดังนั้น ไม่ใช่เฉพาะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ผลกระทบของมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดก็เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก.เงินกู้) มูลค่า 1 ล้านล้านบาท เพื่อใช้ในการป้องกัน เยียวยาผลกระทบและฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมจากสถานการณ์โควิด-19


ธีม (theme) หรือหัวข้อสำคัญของวารสารฉบับนี้ จึงให้ความสำคัญกับโควิด-19 กับสังคมในแง่มุมต่าง ๆ พร้อมไปกับการสัมมนาวิชาการประจำปี พ.ศ. 2563 ของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง สังคมหลังโควิด-19: ผลกระทบและการฟื้นฟูอย่างยั่งยืน ที่เผยแพร่ออนไลน์ผ่านแฟนเพจสถาบันวิจัยสังคม (www.facebook.com/chula.cusri) จำนวน 5 ครั้ง ตลอดเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 ดังนั้น 5 ใน 6 บทความในวารสารฉบับนี้ จึงให้ความสำคัญกับผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมไทย รวมถึงประเทศในภูมิภาคในแง่มุมต่าง ๆ

Article Details

บท
บทบรรณาธิการ (Editorial)