ความเหลื่อมล้ำทางทุนเศรษฐกิจกับการกวดวิชาของชนชั้นกลางในสภาวการณ์โรคระบาดโควิด-19

Main Article Content

ธนกร วรพิทักษานนท์

บทคัดย่อ

บทความชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอความเหลื่อมล้ำทางทุนเศรษฐกิจกับการกวดวิชาของชนชั้นกลางในสภาวการณ์โรคระบาดโควิด-19 โดยนำส่วนหนึ่ง จากข้อมูลการสังเกตการณ์และการสัมภาษณ์ในพื้นที่สถาบันกวดวิชาขนาดเล็กในกรุงเทพมหานคร ร่วมกับการอธิบายด้วยกรอบแนวคิดความเหลื่อมล้ำในสำนักคิดความยุติธรรมทางสังคม และแนวคิดเรื่องทุนของ Pierre Bourdieu


ผลการศึกษาพบว่า สถาบันกวดวิชาขนาดเล็กที่แทรกตัวอยู่ในชุมชนจะมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนักเรียนและผู้ปกครองเป็นอย่างมาก โดยได้เกิดกระบวนการต่อรองระหว่างกัน ทั้งทางการศึกษา เศรษฐกิจและสังคม อันเป็นผลกระทบจากสภาวการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งนำไปสู่ 1. การกวดวิชาภายใต้โควิด-19 ที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำในทุนทางเศรษฐกิจและทุนวัฒนธรรมของครอบครัวชนชั้นกลาง และ 2. การให้คุณค่าและการต่อรองกับการกวดวิชาผ่านทุนทางสังคมของครอบครัวชนชั้นกลาง ทั้งสองส่วนได้ฉายภาพการดิ้นรนให้บุตรหลานได้บริโภคการศึกษาพิเศษ เพื่อให้สามารถต่อรองกับวิถีการศึกษาที่แปรเปลี่ยนและโครงสร้างระบบการศึกษาที่เหลื่อมล้ำได้ ทั้งมุ่งใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือเพื่อการเลื่อนชั้นทางสังคมของครอบครัวในอนาคต


ความพยายามช่วงชิงต่อรองของครอบครัวชนชั้นกลาง ทั้งนักเรียนและผู้ปกครอง ต่อการลงทุนเพื่อบริโภคการศึกษาพิเศษ เป็นส่วนสะท้อนความล้มเหลวของการศึกษาในระบบ และรากลึกของปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่ครอบครัวชนชั้นกลางพยายามลดทอนความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่น ซึ่งปรากฏชัดขึ้นเมื่อสังคมถูกปะทะด้วยสภาวการณ์ไม่ปกติ ดังนั้น รัฐจึงควรทบทวนและปรับมโนทัศน์นโยบายการจัดการศึกษา ให้ตอบสนองต่อทั้งประโยชน์สาธารณะ ความต้องการของปัจเจกชนในระบบทุนนิยม และความปรกติใหม่

Article Details

บท
บทความวิจัย (Research Article)