การประเมินความยั่งยืนมิติสังคมของการทำเกษตรแบบบูรณาการด้วยโมเดล SAFA

Main Article Content

อุ่นเรือน เล็กน้อย
พิชญา สุรพลชัย
บุษรินทร์ ดวงเด่น

บทคัดย่อ

การทำเกษตรยั่งยืนนับเป็นเป้าหมายและปลายทางสำคัญที่มีความสอดคล้องไปกับ SDG 12 ที่ต้องสร้างให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะในประเทศเกษตรกรรม โครงการแม่แจ่มโมเดลพลัสและโครงการกองทุนฟื้นฟูป่าและสร้างระบบอาหารยั่งยืน (Forest Landscape Restoration Fund หรือ กองทุน FLR349) ซึ่งเป็นโมเดลการทำเกษตรแบบบูรณาการ เพื่อมุ่งสู่ระบบการผลิตและบริโภคอาหารที่ยั่งยืนในพื้นที่นำร่องบ้านแม่ขี้มูก (สองธาร) ตำบลบ้านทับ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่แรก ๆ ของการบุกตลาดของการปลูกข้าวโพดเชิงเดี่ยวในพื้นที่ภาคเหนือ


การวิจัยนี้จึงเป็นการประเมินความยั่งยืนในมิติสังคมของการโครงการแม่แจ่มโมเดลพลัสและโครงการ FLR349 โดยประยุกต์ใช้กรอบการประเมินความยั่งยืนของระบบอาหารและการเกษตร (Sustainability Assessment of Food and Agriculture System: SAFA) ในมิติสังคม พัฒนาขึ้นโดย FAO การประเมินนี้ดำเนินการในรอบปีการผลิตปี พ.ศ. 2561 มีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน ใช้วิธีการเก็บข้อมูลแบบผสมผสาน ได้แก่ การเก็บแบบสอบถามและการสัมภาษณ์เชิงลึก ที่พัฒนาขึ้นตามตัวชี้วัดของกรอบการประเมิน SAFA และปรับให้เข้ากับบริบทของพื้นที่


ผลการศึกษา พบว่า การทำเกษตรภายใต้โครงการแม่แจ่มโมเดลพลัสและโครงการกองทุน FLR349 มีความยั่งยืนด้านการค้าที่เป็นธรรมและด้านความหลากหลายทางวัฒนธรรมอยู่ในระดับดีมาก และมีความยั่งยืนระดับดีในด้านการมีชีวิตที่ดี ดังนั้น จึงมีข้อเสนอแนะแนวทางต่อการสร้างความยั่งยืนของการทำเกษตรแบบบูรณาการต่อไป โดยเห็นควรให้มุ่งเน้นการสร้างความต่อเนื่องของโครงการที่ส่งเสริมการทำเกษตรแบบบูรณาการ และเร่งสร้างแรงจูงใจให้แก่คนรุ่นใหม่ลูกหลานเกษตรในพื้นที่เพื่อรับช่วงต่อในการทำเกษตรยั่งยืนนี้ต่อไป เพื่อให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การทำเกษตรแบบบูรณาการได้อย่างแท้จริง ภายใต้วิถีการผลิตที่ยั่งยืนและสอดคล้องไปกับยุทธศาสตร์ชาติในการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

Article Details

บท
บทความวิจัย (Research Article)